ประวัติและคุณูปการ

ประวัติส่วนตัว

เทอด เทศประทีป เกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 2 จุลศักราช 1304 ปีมะแม ซึ่งตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2486 ณ บ้านหอรัตนชัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ พุฒิ เทศประทีป และมารดาชื่อ ทวี เทศประทีป โดยมีต้นสกุลคือพระยาเกรียงไกรกระบวนยุทธ (โคม) ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ผู้ที่ได้รับพระราชทาน นามสกุล "เทศประทีป" สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เทอด เทศประทีป เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของครอบครัว โดยมีพี่น้องร่วมบิดาและมารดาทั้งสิ้น 4 คน ดังนี้

  1. นายไพศาล เทศประทีป (ถึงแก่กรรม)
  2. พลอากาศโท สมโภช เทศประทีป (ถึงแก่กรรม)
  3. ร.ศ.น.สพ.ดร. เทอด เทศประทีป
  4. พลเอกพงษ์เทพ เทศประทีป

ประวัติการศึกษา

เทอด เทศประทีป สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถม 1-6 จากโรงเรียนสุนทรวิทยาลัย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-6 จากโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จากนั้นได้เข้ามาศึกษาในระดับ ม.7-8 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพมหานคร และได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในรุ่นที่ 25 สำเร็จการศึกษาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2510 ต่อมาปี พ.ศ. 2513 สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จาก the Royal Veterinary College, Stockholm, Sweden (P.G.Dilploma in Veterinary Pathology) และในปี พ.ศ. 2516 สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิต ทางด้านพยาธิวิทยาการสัตวแพทย์ (Veterinary Pathology) College of Veterinary Medicine, Hannover, Germany และในปี พ.ศ. 2559 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประวัติครอบครัว

หลังจากที่ได้สำเร็จการศึกษาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2510 แล้ว น.สพ. เทอด เทศประทีป ได้สมรสกับ สพ.ญ. อาภา ปัณฑรางกูร ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในรุ่น 25 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2512 มีบุตร-ธิดารวมทั้งสิ้น 2 คนคือ

1. กนกพร เทศประทีป สมรสกับ ณัฐวิทย์ วยากรณ์ มีบุตร-ธิดา 2 คนคือ ด.ญ. ณัฎฐากร วยากรณ์ และ ด.ช.ฉันทกร วยากรณ์

2. ทวิภัทร เทศประทีป สมรสกับ ปวีรา ลิ้มนุสนธิ์ มีธิดา 1 คนคือ ด.ญ.ฐาปณี เทศประทีป

ประวัติการทำงาน

เทอด เทศประทีป เริ่มรับราชการครั้งแรก สังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตำแหน่งอาจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2510 และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2518 และเป็นรองศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2528

ในด้านการบริหารสถาบันอุดมศึกษา เขาเคยเป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2536 และเป็นคณบดีคนแรก ในปี พ.ศ. 2537 ถึงปี พ.ศ. 2544 ต่อมาจึงโอนย้ายมาสังกัดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2552 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ในปี พ.ศ. 2554 – เมษายน 2562 เป็นที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ผลงานเกียรติประวัติ

ปี พ.ศ. 2511 ในขณะที่เป็นอาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ชนาญวัตร เทวกุล นายแพทย์ อุทัย รัตนิน และ น.สพ.ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ ในการดูแลรักษาโรคตาอักเสบของพระเศวตสุรคชาธาร ซึ่งเป็นช้างทรงคู่พระบารมีฯ เป็นระยะเวลารวม 40 วัน ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2525 - 2527 ได้ถวายงานในการชันสูตรซากช้างในพระบรมมหาราชวังที่ป่วยตายจากหลายสาเหตุอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 5

ในช่วงระหว่างดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2542 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานฝ่ายสัตวแพทย์เพื่อดำเนินการผ่าตัดรักษาเท้าของช้างโม่ตาลา ซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการเหยียบกับระเบิดในเขตชายแดนประเทศพม่า และได้รับการรักษาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างด้าน animal welfare ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และเป็นรายแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดเป็นผลสำเร็จ ขณะนี้ช้างโม่ตาลาได้มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยและได้รับการใส่ขาเทียมโดยมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ เทอดชัย ชีวเกตุ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาการบริการสาธารณะ ปี ค.ศ.2008 เป็นผู้ประดิษฐ์ขาเทียม)

ปี พ.ศ. 2537 – 2544 เป็นผู้นำในการดำเนินการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปี 2544 ได้รับการคัดเลือกโดย สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็น “สัตวแพทย์ตัวอย่างของประเทศประจำปี 2544 สายงานเผยแพร่วิชาชีพ และบริการสังคม”

ปี 2556 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2556 จากสมาคมนิสิตเก่าคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “สาขาสัตวแพทย์อาวุโสดีเด่น”

ปี 2559 ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่‍

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้ันประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)

เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 (ภ.ป.ร.5)



ส่วนถัดไป