คำไว้อาลัย

อาจารย์เทอด...ผู้เป็นครูและผู้บังคับบัญชาที่เคารพรักยิ่ง


นับได้ว่าเป็นความโชคดีที่เราทั้งสองได้มีโอกาสเรียนหนังสือกับท่านอาจารย์เทอดเมื่อครั้นสมัยที่เป็นนิสิตสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะที่ดาเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 นั้น อาจารย์เทอดท่านได้บินมาจากจังหวัดเชียงใหม่ และในครานั้นอาจารย์ก็ได้เล่าเรื่องราวของการก่อร่างสร้างคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้พวกเราฟังด้วย ในขณะที่เป็นนิสิต พวกเราได้มีโอกาสนั่งฟังเสียงทุ้ม นุ่มของอาจารย์ที่บรรยายในวิชาพยาธิวิทยา  โดยเฉพาะตอนดูสไลด์จุลพยาธิวิทยาซึ่งต้องมีการปิดไฟในห้องเพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น แอร์เย็นๆ พร้อมด้วยเสียงกล่อมของอาจารย์ และ เนื้อหาอันสลับซับซ้อนน่าปวดหัว จนทำให้เราเกือบเคลิ้มไปทุกครั้ง 

จนต่อมาเราทั้งสองได้มาเป็นบุคลากรของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2539 (บิ๊ค) และ 2541 (ดา) ตามคำชวนของอาจารย์เทอดที่ต้องการจะสร้างคณะให้มีความก้าวหน้า จึงได้ตกลงปลงใจหนีตามอาจารย์มาเป็นคนเวียงเชียงใหม่ ทั้งๆที่อยู่ไกลบ้านเกิด แต่นั่นพวกเราก็ไม่ผิดหวังเลย ด้วยในการทำงานที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงเริ่มต้นและด้วยความเป็นอาจารย์รุ่นแรกๆ ภารกิจของเราจึงไม่ค่อยได้เป็นงานด้านวิชาการมากนัก อาจารย์ได้ให้โอกาสพวกเราทำงานให้อาจารย์อยู่เสมอ งานส่วนใหญ่ที่ได้รับมอบหมายนั้น ได้แก่การเป็นผู้ประสานงาน หรือ เลขานุการ การประชุม การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรื่องครุภัณฑ์ของคณะ การจัดหลักสูตร และ เป็นผู้ประสานงานเชิญอาจารย์พิเศษจากต่างมหาวิทยาลัย  แม้ว่าเราจะไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมากนัก แต่อาจารย์ก็ได้สอนและให้คำชี้แนะต่างๆ มากมาย พวกเราได้เรียนรู้ตัวอย่างและมุมมองในการทำงานจากอาจารย์เสมอ อาจารย์เคยบอกว่า “เวลาทำงาน ต้องให้ได้เพื่อนนะ ทำงานแล้วอย่าเสียเพื่อน”  อาจารย์ให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องการงานและเรื่องส่วนตัว การดูแลทั้งเรื่องการสอน การทำงานของคณะ และ เรื่องการใช้ชีวิตในเชียงใหม่ รวมทั้งการให้โอกาสได้แสดงผลงานต่างๆ และอาจารย์มักจะให้เดินทางไปประชุมที่กรุงเทพ ซึ่งหมายถึงเราก็ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่กรุงเทพบ่อยครั้งมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงที่เราเป็นอาจารย์ใหม่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. มักจะมีอาจารย์ชาวต่างประเทศแวะมาเยี่ยมเยียนและดูงานอยู่เสมอ พวกเรามักถูกมอบหมายจากท่านอาจารย์เทอดให้เป็นผู้ประสานงานดูแลอาจารย์ต่างประเทศ ทั้งประสานงานการบรรยายพิเศษ การพาไปรับประทานอาหารและทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ ของเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือ ซึ่งนั่นทำให้พวกเราได้มีโอกาสพัฒนาภาษาอังกฤษและคุ้นเคยกับอาจารย์ต่างประเทศมากขึ้น จนถึงขั้นที่ดาได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอูเทรค ประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนบิ๊คได้ทุนจากรัฐบาลไทยไปเรียนในอีก 2 ปีต่อมา ซึ่งถือเป็นพระคุณของอาจารย์ที่พวกเราไม่อาจลืมเลือนได้เลย

ชีวิตการทำงานของพวกเราที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงเริ่มแรกก่อตั้งคณะนั้น หากจะคิดย้อนกลับไป แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกได้ว่ายังขาดแคลน คือ ขาดทั้งบุคลากร และครุภัณท์ต่างๆ แต่นั่นนับเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้อาจารย์และบุคลากรของคณะในช่วงเวลานั้น มีความสนิทสนม รักใคร่กันเหมือนพี่น้อง ก็ด้วยเนื่องจากการบริหารงานของอาจารย์เทอดที่ปกครองคน ประดุจเป็นครอบครัวเดียวกัน ความเมตตากรุณาของอาจารย์ อีกทั้งการทำงานที่ทุ่มเทเอาใจใส่ของอาจารย์เป็นที่ประจักษ์กับพวกเราอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นอาจารย์นั่งทำงานที่ห้องคณบดีอยู่ถึงเย็นย่ำ ด้วยเอกสารและแฟ้มกองโตหรืออะไรต่อมิอะไร บางครั้งที่สองสามทุ่ม เราก็ยังเห็นไฟที่ห้องทำงานท่านเปิดอยู่ แม้ท่านจะเป็นผู้บริหารระดับสูงของคณะ มีงานบริหารและงานราชการมากมาย แต่หากมีภารกิจการสอน หรือ งานชันสูตรผ่าซากเข้ามา ท่านจะไม่รีรอที่จะไปทำหน้าที่ครูผู้สอนและทำงานที่ท่านรักเลยแม้แต่น้อย  

อาจารย์เทอดมีแนวคิดในการบุกเบิกการทำงานในด้านช้างและสัตว์ป่า ซึ่งท่านได้จัดตั้งสาขาวิชาคลินิกช้างและสัตว์ป่า โดยอาจารย์เทอดดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสาขาวิชาคนแรก นับเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญด้านหนึ่งในการบุกเบิกและพัฒนางานในด้านช้างและสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นสาขาวิชาใหม่ที่ไม่มีที่ใดในประเทศไทย (ช่วงปี 2543) การตั้งสาขาวิชานี้เพื่อให้การทำงาน การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการมีความเด่นชัด และเพื่อดำรงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากที่อาจารย์เป็นประธานคณะทำงานฝ่ายสัตวแพทย์เพื่อดำเนินการผ่าตัดรักษาเท้าของช้างโม่ตาลาซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการเหยียบกับระเบิดในเขตชายแดนประเทศพม่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 และได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลช้างมูลนิธิเพื่อนช้าง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ถือเป็นกรณีตัวอย่างด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและเป็นรายแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดเป็นผลสำเร็จ นับเป็นความปรีชาของท่านอาจารย์เทอดที่ได้ยกระดับวิชาชีพสัตวแพทย์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และเป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์มากขึ้น

อาจารย์เทอดเป็นแบบอย่างของครู ผู้รักในวิชาชีพสัตวแพทย์ ผู้มีจิตวิญญาณของครูอยู่ทุกกาล อาจารย์เป็นนักคิด นักบริหารงานที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล การปกครองงาน ปกครองคน ความเป็นสุภาพบุรุษที่ยากจะหาใครเหมือน อาจารย์ทำงานด้วยความทุ่มเทเพื่อประโยชน์ขององค์กรและส่วนรวม นับเป็นแบบอย่างที่ดีในเราทั้งสองและใครต่อใครหลายคน ถึงแม้ต่อมา (ช่วงปี 2544) ท่านอาจารย์เทอดได้ลาราชการจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปเป็นรองอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยอมรับพวกเราตกใจและแอบเสียใจ ประหนึ่งเหมือนพ่อจะทิ้งลูกๆ ไป... แต่แล้วในที่สุดอาจารย์ได้บอกพวกเราว่า อาจารย์ได้วางรากฐานจนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความมั่นคงอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว และอาจารย์มั่นใจว่าพวกเราและบุคลากรในสมัยนั้นจะนำพาคณะไปสู่ความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม อาจารย์ไม่เคยลืมและไม่เคยทิ้งคณะ อาจารย์ท่านจะแวะกลับมาเยี่ยมเยียนพวกเราที่คณะอยู่เสมอ ทั้งแบบที่เชิญมาอย่างเป็นทางการ หรือ แวะมาเป็นการส่วนตัว รวมทั้งพวกเราได้แวะไปเยี่ยมเยียนอาจารย์เทอดที่จังหวัดเชียงรายอยู่บ่อยๆ  และทุกครั้งที่จะไปเชียงราย อาจารย์เทอดจะบอกพวกเราเสมอๆ ว่ามีอะไรก็แวะไปหาอาจารย์ได้นะ  แม้ในบางครั้งอาจารย์จะติดภารกิจสำคัญ งานประชุม หรือรับแขกของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่ถึงกระนั้นท่านยังกรุณาปลีกตัวมาพบเจอกับพวกเราเสมอ และในบางครั้งที่พวกเราพบเจออุปสรรคในการทำงานที่คิดใคร่ครวญแล้ว ยังไม่สามารถหาทางออกที่ดีที่งามได้... ท่านอาจารย์เทอด จะเป็นบุคคลในอันดับต้นๆ ที่พวกเรานึกถึงและโทรศัพท์ไปรบกวนหรือเดินทางไปพบท่านที่เชียงรายเพื่อขอคำแนะนำอยู่เสมอ และทุกครั้งนอกจากคำสอนและคำชี้แนะในการงานแล้ว  พลังใจในการทำงาน เป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่อาจารย์เทอดท่านได้กรุณาเติมให้พวกเราอยู่เสมอ

ในครั้งนี้ ท่านอาจารย์เทอดได้ลาจากพวกเราไปเป็นครั้งที่ 2 เป็นการจากลากันไปไกลแสนไกล แม้พวกเราจะรู้ซึ้งดีอยู่แล้วว่า ช่วงเวลาของการจากลาเช่นนี้ต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกผู้ทุกคน แต่... มันช่างรวดเร็ว ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยากแก่การทำใจเสียเหลือเกิน อยากเรียนอาจารย์ด้วยความเคารพรักอย่างที่สุดว่า อาจารย์ผู้ซึ่งเป็นทั้งครู ผู้บังคับบัญชาที่เคารพรัก ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อคนที่สองของพวกเรา ความเมตตา ความปรารถนาดี และพระคุณของอาจารย์ที่มีต่อพวกเรา จะยังคงอยู่ในใจเราเสมอมิลืมเลือน พวกเรามิอาจหาญให้คำมั่นใดๆ กับอาจารย์ แต่พวกเราจะดำรงตน และประพฤติตนที่ดีตามรอยทางที่มีอาจารย์เป็นต้นแบบ และจะพยายามสานกิจการงานของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำงานที่หนึ่งที่อาจารย์รัก ให้เต็มกำลังความสามารถเท่าที่พวกเราจะทำได้



ด้วยความเคารพรักอย่างสูง

รศ. น.สพ. ดร. ฉัตรโชติ ทิตาราม (บิ๊ค) - ผศ. สพ.ญ. ดร. นิยดา ทิตาราม (ดา)

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรกฎาคม 2563 

คำไว้อาลัยท่านอื่น