คำไว้อาลัย
แด่ รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.เทอด เทศประทีป
ผู้ซึ่งจารึกอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป
จาก บันทึกเรื่อง When 2 Thai Gentlemen Visited Japan: Miyazaki-Tokyo-Kyoto
(23 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2533)
โดย รศ.น.สพ.บุญมี สัญญสุจจารี และ ศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต
ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สามสิบปีแห่งความทรงจำการเดินทางไปญี่ปุ่นของ รศ.น.สพ.ดร.เทอด เทศประทีป และรศ.น.สพ.บุญมี สัญญสุจจารี ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2533 ตามคำเชิญของ Prof. Dr. S. Tateyama ภาควิชาสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิยาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสัญญาความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งในมิตรภาพของเพื่อนรักระหว่างท่านอาจารย์บุญมี และ Prof. Tateyama เริ่มจากที่ อาจารย์อัจฉริยา ได้รับทุน Monbusho ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกโดย Prof. Tateyama เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยการแนะนำของท่านอาจารย์บุญมี ที่มหาวิทยาลัยมิยาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปี พ.ศ. 2531-2534 นับเป็นครั้งแรกที่ท่านอาจารย์ทั้งสองที่เป็นที่รักแ และเคารพยิ่งไปเยี่ยมในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ ได้ประสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย จุฬาฯ-มิยาซากิ รวมทั้งคณาจารย์ของทั้งสองมหาวิทยาลัยได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองมหาวิทยาลัยแน่นแฟ้นและเป็นปึกแผ่นตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน ต่อมามีคณาจารย์ นิสิตบัณฑิตศึกษา และนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ไปศึกษาต่อ และมีกิจกรรมทางวิชาการอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 30 ปี
บรรยากาศช่วงที่ท่านอาจารย์ไปเยี่ยมยังจำได้ถึงความรัก และหวังดีที่ท่านมีให้เสมอ ตื่นเต้นมากๆที่จะเตรียมต้อนรับแขกคนสำคัญอย่างไรดี ให้ท่านอาจารย์ทั้งสองประทับใจและมีความสุข สะดวกสบายในการเดินทางครั้งนี้ บทความไว้อาลัยเรื่องนี้เกิดขึ้นจากได้มีโอกาสอ่านบันทึกฉบับนี้ ซึ่งท่านอาจารย์ทั้งสองเดินทางไปด้วยกันที่ท่านอาจารย์บุญมีเขียนให้ มอบบันทึกให้ท่านอาจารย์เทอดช่วงที่ภาควิชาฯ จัดสัมนาและไปเยี่ยมคารวะท่านอาจารย์เทอด อาจารย์อาวุโสของเราที่จ.เชียงราย เมื่อวันที 9-11 ธันวาคม 2562 การไปเยี่ยมท่านอาจารย์เทอดครั้งนั้น ทำให้เราได้ใกล้ชิดและอบอุ่นเหมือนกับท่านอาจารย์ยังอยู่กับพวกเราที่จุฬาฯ และยังเป็นโอกาสเดียวที่คงไม่เกิดขึ้นอีกแล้วที่เราทุกคนได้พบท่านอย่างใกล้ขิดและอบอุ่นมากที่เชียงราย ขอถือโอกาสที่ได้รับเกียรติอย่างสูงจากครอบครัวของ รศ.น.สพ.ดร.เทอด เทศประทีป ในการถ่ายทอดความรู้สึกที่ยากจะบรรยายของศิษย์ที่มีต่ออาจารย์ที่เคารพรัก จากบันทึกฉบับนี้ที่เรียบเรียงโดย รศ.น.สพ.ดร.เทอด เทศประทีป และ รศ.น.สพ.บุญมี สัญญสุจจารี รวมทั้งรูปภาพที่อาจารย์ทั้งสองท่านไปญี่ปุ่นไว้เป็นประวัติอีกหน้าหนึ่ง ในบทความนี้ได้ปรากฏชื่อของคณาจารย์ชาวญึ่ปุ่น ภาควิชาสัตวแพทยศาสตร์ และภาควิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิยาซากิ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ ท่านอาจารย์เทอดและท่านอาจารย์บุญมี โดยขออนุญาตกล่าวนามของท่านในบทความนี้ด้วยความระลึกถึง อาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านที่กล่าวนามซึ่งได้เกษียณอายุราชการได้รับทราบ และขอแสดงความไว้อาลัยในการจากไปของท่านอาจารย์ด้วยความรักและอาลัยอย่างยิ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำแด่ท่าน รศ.น.สพ.ดร.เทอด เทศประทีป ผู้ล่วงลับด้วยความรักและเคารพอย่างยิ่ง
When 2 Thai Gentlemen Visited Japan: Miyazaki-Tokyo-Kyoto
โดย รศ.น.สพ.ดร.เทอด เทศประทีป และรศ.น.สพ.บุญมี สัญญสุจจารี (2 อาจารย์หนุ่มไปญี่ปุ่น)
22 กรกฎาคม 2533
เช้า 8.45 น. ขึ้นเครื่อง TG622 ที่ดอนเมือง ไป OSAKA ซึ่งอยู่ตอนกลางของญี่ปุ่น ใช้เวลาเดินทาง 5 ชม. ถึง OSAKA เวลา 16.00 น. (เวลาในญี่ปุ่นเร็วกว่าไทย) เปลี่ยนเครื่องเป็น ANA (All Nippon Airline) ซึ่งเป็น Domestic Flight ของญี่ปุ่น ไป Miyazaki ซึ่งเป็นเมืองตอนใต้ของญี่ปุ่นบนเกาะ Kyushu (เกาะใหญ่ใต้สุด) ใช้เวลาบินประมาณ 1 ชม. ถึง Miyazaki แล้วมี อ.อัจฉริยา, Prof. Tateyama และ Ms. Mutoh (นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมิยาซากิ) มารับที่สนามบินและนั่งรถเข้าเมืองไปพักที่โรงแรม Leman 1 คืน (กลางคืน Dr. Kozasa เพื่อน Prof. Tateyama จาก Toyo Jozo Co.Ltd. พาไปเลี้ยง dinner ได้ทานปลาดิบ sashimi ด้วยตะเกียบ Hashi ดื่มเหล้าสาเก ใส่สีเหลืองอ่อน หอม หวาน
23 กรกฎาคม 2533
เช้า Prof. Tateyama ไปรับ ที่โรงแรม Leman เวลา 10.00 น. พามามหาวิทยาลัย Miyazaki ตอนกลางวันทาน Japanese lunch ที่แผนก Fishery ร่วมกับ Prof. Kitao, Prof. Tateyama, Prof. Aoki, Prof. Endo, Prof. Kondo, Prof. ทาง Biochem และ อ.อัจฉริยา เย็นไปพักที่ Guest House ของคณะแพทย์

24 กรกฎาคม 2533
เช้ามาคณะสัตวแพทย์ที่มหาวิทยาลัย Miyazaki พบกับคณาจารย์และพบหารือทางวิชาการ ตอนเย็นเวลา 19.00 น. Staff ของคณะเกษตรเลี้ยง dinner ที่ใน central town ของเมือง Miyazaki มี คณบดี เป็นประธาน คือ Dean Shimizu สุภาพมาก อายุราวๆ 55 ปี เป็นสัตวแพทย์พูดภาษาอังกฤษดี นอกนั้นมี Prof. Kitao, Prof. Tateyama, Prof. Aoki, Asist. Prof. Endo, Assist. Prof. Yamaguchi ที่ทานเป็นแบบญี่ปุ่นนั่งกับพื้น มีอาหาร Sashimi etc.

25 กรกฎาคม 2533
เช้าออกจาก Guest House ใกล้คณะแพทย์หลังจากทาน Japanese breakfast ซึ่งมีซุปถั่วเหลือง ปลาเค็มตัวเล็กๆ 2 ตัว ข้าวสวย 1 ถ้วยทุบไข่ดิบใส่ 1 ใบ กล้วยหอม 1 ชิ้น สาหร่าย และผัก 1 ถ้วย ตอนเช้าทำงานที่แผนกพยาธิวิทยาในห้อง Prof. Tateyama กลางวันทานข้าวที่ University canteen กับ Prof. Aoki, อ.เทอด, อ.อัจฉริยา ทานบะหมี่ Soba ชามบะหมี่นี้เป็นเส้นสีเหลืองชามใหญ่เรียกว่า “Shampo” (เส้นสีน้ำตาล) รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นทานอาหารปริมาณมาก ตอนเย็น 18.00 น. ภรรยาของ Dr. Yamaguchi มารับไปบ้านพร้อม Dr. Yamaguchi ซึ่งอยู่นอกเมืองเป็นบ้านเล็กๆ 2 ชั้น ส่วนอาจารย์เทอดไปพักที่บ้าน Prof. Aoki ทาน dinner แบบญี่ปุ่นมี sashimi (ปลาดิบจิ้มซีอิ้ว) ผัก ข้าว พร้อมกับดื่มเหล้าสาเก (หวาน) สีขาวแต่เมา และ green tea หลังจากทาน dinner ซึ่งทางครอบครัวจัดให้นอนในห้องเล่นเปียโนก็นอนหลับพอสมควร ตอนเช้าตื่นนอนแต่ตีห้า (เพราะเคยจากเมืองไทย)
26 กรกฎาคม 2533
เช้าออกจากบ้าน Dr. Yamaguchi ขับรถมาคณะฯมาพบกับอาจารย์เทอด เช้าเตรียมตัวเลกเชอร์เรื่อง Pig Production & Diseases in Thailand ซึ่งกำหนดจะพูดตอน 13.00 น. ให้นิสิตและอาจารย์ของคณะเกษตรฟัง กลางวันทานข้าวที่ University Canteen วันนี้ทานบะหมี่น้ำซึ่งชามโตเหมือนเดิม
13.00 น. กลับมาที่แผนกพยาธิวิทยา เข้าห้องประชุมใหญ่ Prof. Kitao กล่าวเปิดประชุมและแนะนำตัว อาจารย์ ดร.เทอดพูดก่อนเรื่อง Chicken Production & Diseases 45 นาที เสร็จแล้วถึงตอนเราอาจารย์บุญมี พูดบ้าง เราเริ่มแปลก คือกล่าวสวัสดีเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Konichiwa ทุกคนในห้องประชุมหัวเราะชอบใจมาก เสร็จแล้ว lecture ด้วยแผ่นใสอธิบายเรื่อง Pig Pop. และ Production Efficiency figure ซึ่งเขาชอบมาก เสร็จแล้วต่อด้วย slides อีกประมาณ 60 ภาพเรื่องโรคต่างๆ อ.อัจฉริยา บอกว่าสไลด์บรรยายสวยมาก ตอนท้ายปิดท้ายด้วย slides รูป lady อุ้มหมู รูปสาวเชียงใหม่และรูปบัวกลางบึง การเลคเชอร์ของเราทั้งสองวันนี้ Prof. Tateyama ชมว่า ดีมาก และจะเป็นประโยชน์มากเมื่อจะไปเลคเชอร์ที่ Tokyo ต่อ
18.00 น. Prof. Tateyama ขับรถพามาค้างที่บ้าน 3 วัน (ส่วน อาจารย์เทอด แยกไปค้างบ้าน Prof. Aoki) บ้านอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยมาก ขับรถประมาณ 40 นาที บ้านมีเนื้อที่หลายไร่มีบ้านหลังเก่า และหลังใหม่ ซึ่งสร้างแบบญี่ปุ่นใหญ่มีหลายห้อง เขาให้พักในห้องพักรับแขก เก้าอี้ดัดแปลงเป็นเตียงนอนได้ ยก T.V. มาให้มี Remote control มีพัดลม มีโคมขาวเพดานแบบญี่ปุ่นแขวนเพดานสวยดีมาก ครอบครัวอบอุ่นมีลูก 3 คน เข้านอน 5 ทุ่ม หลับบ้างไม่หลับบ้าง ตื่น 7.00 น. เช้า อาบน้ำสระผมแล้วทาน breakfast กับ Prof. Tateyama ในห้องอาหารของบ้านแบบญี่ปุ่น แม่ (haha) เข้าครัวทำอาหารมาเสริฟ แต่ไม่ยอมมาทานพร้อมกัน ญี่ปุ่นก็เป็นอย่างนี้ภรรยาเป็นช้างเท้าหลังเสมอ ก่อนนอนหลังทาน dinner แบบญี่ปุ่นในห้อง ซาชิคิ นั่งบนเสื่อ คะตะมิ ใช้ตะเกียบจับอาหาร (ตะเกียบ = ฮะฉิ) อาหารญี่ปุ่นมีข้าวถ้วยเดียว แต่มีผักและโปรตีนมาก คนญี่ปุ่นจึงตัวใหญ่โต และแข็งแรงเสมอ ตะเกียบแบบไม้ไม่ทาสีต้องฉีกก่อนใช้คือ “วาริมาชิ”
Prof. Tateyama ชอบเมืองไทย โดยเฉพาะชอบเชียงใหม่และเชียงรายมาก บอกว่าชอบอากาศเพราะเย็นสบายและไม่ชื้น Dr. Tateyama อยากมีที่สักผืนเล็กๆ ที่เชียงใหม่หรือเชียงราย

27 กรกฎาคม 2533
เช้าออกจากบ้าน Prof.Tateyama ไปคณะฯ พบกับอาจารย์เทอดแล้ว Prof. Tateyama พาไปดู slaughter house เอกชน ทางตะวันตกของ Miyazaki คือไปเมือง Miyakonojo city ระหว่างทางภูมิอากาศสวยงามมากเป็นภูเขาสูงชัน ป่าไม้เขียวชอุ่ม เมื่อถึง slaughter house ชื่อ “Tagasaki” เข้าพบหัวหน้าสัตวแพทย์ชื่อ Dr. Nassu ได้พาชมแผนกต่างๆ ซึ่งมีเครื่องมือทันสมัย slaughter house นี้ ทำงาน วัว 50 ตัว/ วัน, สุกร 900 ตัว/วัน มีสัตวแพทย์ปริญญา 15 คน (กินเงินเดือนของรัฐ แต่ไม่ได้กินของเอกชน) แต่การชำแหละไก่ไม่มีการตรวจโดยสัตวแพทย์แต่ปีหน้าจะมี วัวเนื้อที่ขึ้นชื่อของญี่ปุ่นซึ่งเกิดที่ Miyazaki นี้เองชื่อ “Japanese black cattle” ซึ่งให้เนื้อคุณภาพดีมากแม้แต่วัว Kobe beef (โคเบ) ก็เป็น Miyazaki Japanese black นี่เอง Jap. Black cattle นั้นเมื่อส่งฆ่าหนักประมาณ 700 ก.ก. และเมื่อเป็นเนื้อสดวางในตลาดราคา กก. ละ 500 บาท ตอนเที่ยงทาน Jap. Luch ที่โรงฆ่าสัตว์ โดย Dr. Nasu เลี้ยง ได้ถ่ายรูปร่วมกัน 1 รูป และได้รับหนังสือมา 1 เล่มมีภาพสีเกี่ยวกับ Vitamin A Def. ที่ไขมันวัวจะเป็น gelatin และตับเหลืองเกิด fatty change นำไปสอนโรคสัตว์ได้
ตอนบ่าย Prof. Tateyama ขับรถพามาชม beef cattle farm ที่ Miyakonojo city ชื่อฟาร์ม “Shonai Cattle beef station” ซึ่งรับวัวอายุ 10 เดือนมาขุนต่ออีก 18 เดือนจึงส่งฆ่าที่ นน. ประมาณ 700 กก. เป็นพันธุ์ Jap. Black เช่นเดียวกัน เขาเลี้ยงวัวโดยให้หญ้า + concentrate
28 กรกฎาคม 2533
เช้าออกจากบ้าน Prof. Tateyama ไปคณะฯ ประมาณ 10.00 น. Dr. Yamaguchi ขับรถพาไปชม Sumiyoshi cattle Farm ทางเหนือของ Miyazaki ฟาร์มนี้เป็น Exp. Farm ของคณะเกษตร ของ Miyazaki Univ. ได้พบ Prof. H. Hamagawa อายุ 65 ปีแล้ว กำลังจะเกษียณแต่แข็งแรงมาก พาชมโรงวัวทั้งวัวเนื้อและวัวนม อาหารเที่ยง Dr. Yamaguchi พาไปทานอาหารกลางวัน ที่ชั้นบนของโรงแรม phoenix Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมชั้น 1 ย่านตากอากาศชั้นดีของ Miyazaki และอยู่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก มองเห็นป่าสนชายฝั่ง ซึ่งมีสนามกอล์ฟมีชื่อของโลกอยู่ที่นี้ด้วย ชายฝั่งนี้รัฐบาลห้ามปลูกโรงแรมติดฝั่ง (ไม่เหมือนพัทยา)
บ่ายไปเยี่ยมชมฟาร์มหมูขุนขนาด 1,800 ตัวมี 3 หลังแต่ละหลังกว้างประมาณ 13 x 50 เมตร จุหมูขุนประมาณ 600 ตัว แล้วใช้อาหารผงผสมยาภายในโรงเรือนติดพัดลมบนใต้หลังคาตามแนวยาวของโรงเรือน ติด fogger เปิด 1 นาทีทุกๆ ชม. ออกจากฟาร์มหมูก็ขับรถกลับคณะฯ เลย คืนนี้พักบ้าน Prof. Tateyama
29 กรกฎาคม 2533
เช้า Prof. Tateyama ขับรถจากบ้านทางตอนเหนือของคณะมาส่งที่ในเมือง เวลา 10.00 น. เพื่อเปลี่ยนรถให้ไปนั่งรถ Prof. Aoki และ อ.อัจฉริยาไปด้วย วันนี้เราขับรถออกนอกเมืองไปเที่ยว Eibino Koken Volcano ซึ่งเป็นย่านภูเขาไปทางทิศตะวันตกของ Miyazaki ห่างไปประมาณ 60-70 กม. เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วแต่ยังมีควัน และ ไอร้อนของกลิ่นกำมะถันออกมาหลายหลุม ภูเขาไฟนี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 กว่าเมตรทิวทัศน์สวยงามมาก Prof. Aoki ซื้อ Kentucky Fried Chicken ขึ้นไปทานด้วย บนภูเขามี Volcano lake ชื่อ Fudoniki น้ำใสสีน้ำเงิน แต่ไม่มีปลาเพราะน้ำมีฤทธิเป็นกรด ขากลับลงมาได้แวะที่ Mike Volcano lake ที่ใหญ่มาก แต่อันนี้มีปลาและลึกมาก 290 ม. ขากลับลงมาได้แวะชม Shinto Shrine ได้ล้างมือที่วัดด้วยน้ำสะอาดก่อนขึ้นไปไหว้พระ (ยืนไหว้และไม่มีการจุดธูปเทียน) และโยนเหรียญเงินลงในถังศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพร ได้ถ่ายรูปหลายรูป และซื้อพวกกุญแจมา 2 พวง
เย็นตอน 19.00 น. ได้เชิญ Prof. Kitao, Prof. Tateyama, Prof. Aoki, Prof. Yamaguchi อ.อัจฉริยาไปเลี้ยงอาหารจีนในเมือง Miyazaki ย่าน Tachibana


30 กรกฎาคม 2533
วันนี่พักผ่อนในเมือง เย็นไปพักบ้าน Prof. Aoki พร้อม อ.เทอด และทาน Japanese dinner โดยมีภรรยา Aoki และลูกสาว 2 คนทำอาหารให้และมีแขกอีก 2 คนๆ หนึ่งเป็น businessman และอีกคนเป็นอาจารย์สอนวิศวกรรมศาสตร์ ทานอาหารและคุยกันจนถึง 23.00 น. จึงเข้านอน (นอนแบบญี่ปุ่นคือนอนเสื่อกับพื้นมีผ้านวมบางๆ ปูหลับสบายดี)
31 กรกฎาคม 2533
เช้า Prof. Aoki ขับรถมาส่งที่ Miyazaki Airport มี อ.อัจฉริยา และ Prof. Kitao มาส่งด้วย 9.45 น. เช้าขึ้นเครื่อง ANA 604 ไป Tokyo ANA 604 ถึง Tokyo 11.15 น. Dr. Kozasa จาก Toyo Jozo Co., Ltd. มารับที่ airport พาขึ้น Taxi เข้า Tokyo City ไป Century Hyatt Hotel (ระหว่างทางรถติดเหมือนกรุงเทพ) โรงแรมนี้เป็นโรงแรมชั้น 1 check in แล้ว (ห้องอยู่ชั้น 17 ของโรงแรม) Dr. Kozasa พาไป Trip Tokyo
นอกจากนี้ไปชมวัด (Shinto & Buddhist) Asakusa ได้ไหว้พระ ได้เสี่ยงเซียมซี ได้ชมย่าน Ginza ย่าน Shinjuku (โรงแรมที่พักอยู่บริเวณนี้) Dr. Kozasa อายุ 50 ปี เป็น Director ของ Research & Development Department, Vet. Div. ของ Toyo Jozo Co.,Ltd. เป็นคนแข็งแรงมาก ยังหนุ่มอยู่ (เป็นคนที่ enjoy life มาก)

1 สิงหาคม 2533
จากโรงแรม Century Hyatt เช้ามาขึ้นรถไฟ Bullet train ไปเมือง Izu ออกจาก Tokyo Station เวลา 10.32 น. ใช้เวลา 1 ชม. ถึง Izu เข้าพักที่โรงแรม Princess Hotel Dr. Kozasa พาชมบริษัท Toyo Jozo Co.,Ltd. พาชมโรงงานทำ Beer และทำยา
15.00 น. Lecture เรื่อง Swine Production & Disease ให้สัตวแพทย์และพนักงานของบริษัทฟังประมาณ 1 ชม. โดยมี Prof. Tateyama เป็นคนแปล
2 สิงหาคม 2533
เช้าออกจากโรงแรม Princess Hotel ซึ่งอยู่บนเขาของเมือง Izu ซึ่งเป็นเมืองที่มีโรงงานผลิตเหล้าสาเกของบริษัท Toyo Jozo ตั้งอยู่ ก่อนออกทานอาหารเช้าที่โรงแรมและมองออกมาทางหน้าต่างพยายามมองหา Fuji Mountain แต่ไม่เห็นเพราะมีหมอกลง ออกจากโรงแรมเวลาประมาณ 8.00 น. นั่ง Taxi มายังสถานีรถไฟที่ Michim station ขึ้น Bullet train ซึ่งวิ่งได้เร็วราว 200-250 กม./ชม. (รางมี 2 ราง แต่กว้างกว่ารถไฟธรรมดา และใช้ระบบ Super induction คือวิ่งเร็วๆ แล้วล้อยกสูงจากรางดังนั้นจึงไม่มีเสียงดังมาก) รถไฟออกเวลา 9.07 น. ถึง Kyoto เวลา 11.10 น. ระหว่างทางผ่านเมืองนาโกยา โยโกฮามาและสองข้างทางเป็นภูมิประเทศที่สวยงามมีภูเขามากมาย และผ่านเมือง Atami ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อทางบ่อน้ำร้อน Bullet train วิ่งผ่านอุโมงค์มากมาย ถามดู คือรถนี้วิ่งเร็วมาก ดังนั้นทางต้องตรงจะคดไปมาไม่ได้
ถึง Michima station คอยสักประเดี๋ยวรถไฟก็มา ได้ถ่ายรูปตอนรถ Bullet train เข้าสถานี ขึ้นรถพร้อมกับ อ.เทอด Prof. Tateyama และ Dr. Watanabe รถ Bullet train สะดวกและกว้างกว่ารถไฟธรรมดานั่งสบายกว่า
ถึง Kyoto ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นมีวัดมาก เวลา 11.10 น. นั่งรถ Taxi ไปยัง Kyoto Tokyo Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมชั้น 1 ของ Kyoto ห้องพักสบายมี T.V. ตู้เย็นและเตียง 2 เตียงนอนคนเดียว เมื่อ check in แล้ว Dr. Watanabe(c/o Toyo Jozo Co., Ltd.) และ Prof. Tateyama พาไปเที่ยวชมวัดวาต่างๆ ในโตเกียวซึ่งมีวัดทั้ง Buddhist และชินโตมากมายเหลือเกินได้ถ่ายรูปและเดินดูวัดที่สำคัญมีพระราชวังเก่าชื่อ Neijo ส่วนใหญ่วัดโบราณเหล่านี้อายุมากกว่า 200 ปี อยู่ท่ามกลางภูเขาและป่าสน (สองใบ) หรือต้น Cedar Wood นี้ไปทำบ้านเรือน ได้เที่ยวได้ซื้อของที่ระลึกจนค่ำแล้ว Dr. Watanabe พาไปเลี้ยง Jap. Dinner ที่ร้านอาหารชั้นดีแห่งหนึ่งมีซุ๊ปอร่อยมากชื่อ Pinetake ซึ่งเป็นเห็ดพิเศษเป็นยาบำรุงได้มาจากป่าสน

3 สิงหาคม 2533
เช้าตื่นนอนเวลา 6.30 น. ลงมาทาน Japanese breakfast ที่ห้องอาหารของโรงแรมใน Kyoto “Kyoto Tokyo Hotel” ซึ่งเป็นโรงแรมชั้น 1 ที่ทาง Dr. Kozasa บ.Toyo Jozo จัดรับรองให้ อาหารเช้าเป็นข้าวต้มร้อนๆ เทใส่น้ำซุปเหนียวข้นสีเหลืองแล้วทานกับผักดอง ปลา ซุปเต้าหู้และหอย ฯลฯ ทานด้วยตะเกียบ “ฮะชิ”
Check out ออกจากโรงแรมประมาณ 8.00 น. เดินออกมาขึ้นรถ bus หน้าโรงแรมไปขึ้นเครื่องบินที่ OSAKA ใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม. ถึงสนามบิน OSAKA เอาของลงจากรถ แล้ว check in กับ TG621 แล้วอำลากับ Prof. Tateyama และ Dr. Watanabe ที่มาส่งและ Prof. Tateyama ก็จะบินกลับไปยัง Miyazaki และ Dr. Watanbe ก็จะบินกลับไปยัง Tokyo
TG621 เป็นเครื่อง Airbus 300 บินจาก OSAKA มายัง Manila transit ที่มะนิลาประมาณ 1 ชม. แล้วบินจาก Manila มายังกรุงเทพใช้เวลาบิน 3 ชม. และจาก OSAKA มายัง Manila ใช้เวลาบิน 3 ชม. ถึงกรุงเทพราวๆ 5 โมงเย็น คุณแอ็ด ไปรับ และ อ.เทอดขับรถมาส่งถึงบ้าน
ท่านอาจารย์ทั้งสองเดินทางกลับประเทศไทยด้วยความสนุกและจบการเดินทางไปญึ่ปุ่นด้วยความประทับ ใจอย่างยิ่ง กำลังใจจากท่านอาจารย์เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ให้ลูกศิษย์ที่กำลังศึกษาประสบความสำเร็จสมตามปรารถนา ได้กลับมาถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านพยาธิวิทยาตามที่ได้ตั้งใจไว้ เจริญรอยตามพ่อพิมพ์ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอย่างหาที่เปรียบมิได้ ขอได้โปรดให้ท่านอาจารย์เทอดได้รับทราบถึงความระลึกถึงที่ศิษย์มีต่อท่าน ผู้ซึ่งกอปรด้วยคุณความดีนานัปการให้ท่านอาจารย์ได้มีความสุขในสัมปรายภพด้วยเทอญ



ด้วยความรักและเคารพอย่างสูง
จากศิษย์ ศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต
12 มิถุนายน 2563
30 ปีของความทรงจำที่ดี
น้องขอมอบกลอนให้พี่ รศ.น.สพ.ดร.เทอด เทศประทีป
สองพี่น้องท่องไกลไปญี่ปุ่น
รัฐมอบทุนการศึกษามาให้ไว้
หลากหลายที่การศึกษาพี่พาไป
เรียนรู้ไว้แบบอย่างการสร้างคน
ญี่ปุ่นนั้นเขาสร้างคนก่อนสร้างชาติ
มุ่งสร้างปราชญ์สร้างวินัยให้เกิดผล
ประโยชน์ชาติมาก่อนประโยชน์ตน
พุทธชินโตบ่มฝึกฝนมานานปี
การท่องเที่ยวเดินทางไกลไปต่างแดน
หากว่าแม้นมีเพื่อนใจไปทุกที่
เที่ยวสนุกทุกเช้าค่ำย่ำราตรี
คอยตามพี่นำทางไม่ห่างไกล
ดร.เทอดท่านรูปงามนามสเน่ห์
มองดูเท่ห์ทุกยามตามนิสัย
ญี่ปุ่นชอบฝรั่งชมกันขรมไป
น้องอยู่ใกล้พลอยได้ยิ้มอิ่มอุรา

อาลัยพี่
รศ.น.สพ.บุญมี สัญญสุจจารี
31 พ.ค. 2563
ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย