คำไว้อาลัย
ในราวปีพ.ศ.2518 กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ (ชื่อปัจจุบัน : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์) และเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ.2519-2520 ทั้งนี้มี 3 แห่ง ได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ จ.ขอนแก่น โดยได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากรัฐบาลเยอรมัน และภาคใต้ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทาง JICA ส่วนในภาคเหนืออยู่ที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ไม่มีความช่วยเหลือจากประเทศใด ๆ ประกอบกับในขณะนั้นถือว่าที่ตั้งค่อนข้างไกลจากตัวเมือง เดินทางลำบาก ทำให้ข้าราชการ ที่ได้รับการบรรจุ ขอโยกย้ายกันแทบจะหมดเหลือแต่คนท้องถิ่นเท่านั้น ในราวปี พ.ศ.2525 (อาจคลาดเคลื่อน) น.สพ.สุจินต์ ตั้งใจตรง ห้วหน้าศูนย์ฯ ได้ดำริกับท่าน อ.ระบิล รัตนพานี คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ท่าน อ.ระบิลฯ ได้จัดตั้งทีมคณาจารย์ อันประกอบด้วย อ.เทอด เทศประทีป อ.มานพ ม่วงใหญ่ อ.บุญมี สัญญสุจจารี อ.เล็ก อัศวพลังชัย (ขออภัยหากตกหล่นชื่ออาจารย์ท่านอื่นไป) เพื่อขึ้นไปเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ซึ่งการไปเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือของคณาจารย์เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่ชโลมบนแผ่นดินที่แห้งแล้ง เนื่องจากนิสิตที่จบจากคณะสัตวแพทย์ในช่วงนั้นสามารถทำงานภาคสนามได้ แต่งานทางห้องปฏิบัติการซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ต้องการความแม่นยำ ถือว่าลำบากมากหากไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ดิฉันซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านพยาธิวิทยา ได้รับความเมตตาจากท่าน อ.เทอดฯ และ อาจารย์ในภาควิชาพยาธิวิทยามาโดยตลอด ในบางครั้งถึงกับต้องหอบสไลด์มาปรึกษาถึงภาควิชา ซึ่งท่าน อ.เทอดฯ และคณาจารย์ให้ความช่วยเหลือด้วยดีตลอดมา ในทุกวันนี้ที่ได้รับเงินบำนาญถือได้ว่าส่วนหนึ่งได้รับการหล่อหลอมมาจากท่าน อ.เทอดฯ จึงขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
สุดท้ายนี้ ขออนุญาตเป็นตัวแทนของศิษย์เก่า ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ภาคเหนือ (ชื่อเดิม) ขอกราบคารวะดวงวิญญาณของท่าน อ.เทอด เทศประทีป หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้ล่วงเกินท่าน อ.เทอดฯ ด้วยกาย วาจา หรือใจ ขอให้ท่าน อ.เทอดฯ ได้อโหสิกรรมให้พวกเราด้วยและด้วยความดีที่พวกเราได้บำเพ็ญมาขอให้เป็นกุศลหนุนส่งให้ท่าน อ.เทอดฯ ไปสู่สุขคติในสัมปรายภพด้วยเทอญ
ด้วยรักและอาลัย
ปฏิบัติงานที่ศูนย์ฯ เหนือ พ.ศ.2523-2529
สัตวแพทย์ ม.เกษตรฯ รุ่น 37