คำไว้อาลัย
จารึกในความทรงจำ แด่ รศ.น.สพ.ดร.เทอด เทศประทีป
จากการเป็นลูกศิษย์ที่จุฬาฯ มาเป็นลูกน้องที่เชียงใหม่ จนเราเติบใหญ่ในทุกวันนี้
เมื่อเริ่มเข้าเรียนในหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต นิสิตทุกคนมีหลายสิ่งอย่างที่ต้องทำ ทั้งการเรียน กิจกรรมเสริมหลักสูตร เรื่องวุ่นวายตามประสาวัยรุ่น ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตทุกคนมีความทรงจำเกิดขึ้นมากมาย ณ สถาบันแห่งนี้ และหนึ่งในความทรงจำของข้าพเจ้าก็คือ อาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งรองคณบดีด้านวิชาการ ท่านสอนวิชาพยาธิวิทยาในชั้นปีที่ 4 อาจารย์เป็นผู้มีภูมิความรู้มากมาย จำได้ว่าหนังสือพยาธิวิทยาของอาจารย์เล่มหนามาก เสียดายว่าสมัยนั้นภาพในหนังสือเป็นภาพขาวดำ ไม่งั้นหนังสือของอาจารย์ต้องได้รับการตอบรับอย่างดีจากนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันอย่างแน่นอน ในชั้นปีที่ 5 พวกเราได้ออกไปปฏิบัติงานโครงการ สพช. ซึ่งอาจารย์ก็ไปด้วยในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ข้าพเจ้าปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าฝ่ายเวชภัณฑ์ ในทุกคืนตลอดระยะเวลา 7 วัน หลังจากประชุมสรุปงานประจำวันของทั้งชั้นปีเสร็จแล้ว ทีมงานต้องตรวจสอบเวชภัณฑ์คงเหลือและจัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับการปฏิบัติงานในวันถัดไปให้กับกลุ่มปฏิบัติงานทั้ง 8 กลุ่มให้เรียบร้อย อาจารย์ก็มาถามไถ่ให้กำลังใจเกรงว่าพวกข้าพเจ้าจะเหนื่อย อาจารย์ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ที่จำได้อีกอย่างก็เป็นเรื่องขำๆ ตอนที่เรียนคลินิกปฏิบัติในชั้นปีที่ 6 ทางกลุ่มได้รับคำถาม (ที่ไม่แน่ใจว่าอาจารย์ต้องการคำตอบจริงๆ หรือแกล้งถาม) ว่ากะโหลกสุนัขที่กำลังผ่าซากกันอยู่นี้ ร่องที่เห็นที่ด้านในของฝากะโหลกเป็นที่อยู่ของต่อมอะไร พวกเราก็อึกอักมึนงงด้วยความรู้อันน้อยนิดของเรา ท่านก็ยิ้มและเปลี่ยนคำถาม เราเลยรอดตัวกันไป
หลังจากข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาก็ได้ทำงานในฐานะสัตวแพทย์ ณ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสสอนน้องๆ ที่มาขึ้นคลินิก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ประกอบกับช่วงนั้นอาจารย์เทอดในฐานะผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชักชวนไปช่วยงาน จึงได้มาเป็นลูกน้องอาจารย์ตั้งแต่ พ.ศ.2538 เริ่มทำงานตั้งแต่ห้องทำงานอยู่ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกอธิการบดี ย้ายมาที่อาคารชั่วคราวหน้าตึกสำนักหอสมุด จนกระทั่งตึกอาคารเรียนของคณะฯ ที่แม่เหียะสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ.2540 ในระหว่างนั้น อาจารย์พยายามเป็นอย่างมากที่จะทำให้คณะฯ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นโอกาสอันดีที่ในปี พ.ศ.2541 ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 โดยมีรายการแข่งขันกีฬาขี่ม้าเป็นหนึ่งในชนิดกีฬา อาจารย์ได้เข้ารับตำแหน่งคณะอนุกรรมการฝ่ายสัตวแพทย์บริการในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และอาจารย์ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าปฏิบัติงานในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีความท้าทายด้านการดำเนินการทางสัตวแพทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชียที่อนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันจากนานาชาติสามารถนำม้าของตนเองเข้ามาแข่งขันในประเทศไทยได้ นั่นหมายถึงประเทศไทยจะต้องจัดเตรียมความพร้อมสถานะปลอดโรคของม้าในพื้นที่โดยรอบสนามแข่งขัน ณ ค่ายอดิสร สระบุรี ให้ทัดเทียมกับสถานะปลอดโรคของสหภาพยุโรป และมีมาตรการป้องกันการนำโรคม้าเข้าสู่ประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตลอดปี 2540-2541 มีการประชุมเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและสนามแข่งขัน การจัดสัมมนาให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหลากหลายทั้งกรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ สมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจารย์มักจะโยนโจทย์ทำงานที่ท้าทายความสามารถมาให้ข้าพเจ้า มันไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่เป็น nobody อย่างข้าพเจ้าแต่อาจารย์ก็ให้ความเชื่อมั่น
ว่าข้าพเจ้าจะต้องทำได้ และข้าพเจ้าเชื่อว่าที่งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น เป็นด้วยความสามารถและบารมีของอาจารย์โดยแท้จริง


ตลอดระยะเวลาที่ทำงานกับอาจารย์ อาจารย์ให้ความเป็นกันเองและดูแลลูกน้องเหมือนคนในครอบครัว ยังจำได้ถึงช่วงปีแรกๆ ที่มาอยู่เชียงใหม่ บุคลากรในหน่วยงานยังมีน้อย อาจารย์เกรงว่าพวกเราจะเหงาเลยชวนกันไปเที่ยวน้ำตกแม่สา ลูกน้องก็นั่งกันไปในรถสบายๆ ส่วนอาจารย์เป็นคนขับให้นั่งไปเที่ยวกัน มีนัดกันไปกินข้าวเย็นเกือบทุกสัปดาห์ (Friday night party) ตอนย้ายเข้ามาทำงานที่ตึกคณะฯ ที่แม่เหียะ แถวนี้ค่อนข้างกันดารไม่มีร้านอาหาร อาจารย์และพวกเราก็จัดเวรกันไปซื้อกับข้าว คนที่อยู่ที่คณะฯ ก็หุงข้าวรอกันไป วันไหนเป็นเวรอาจารย์ไปซื้อพวกเราก็จะได้ทานอาหารอร่อยๆ มากมาย และอาจารย์ยังวางแผนการศึกษาต่อเนื่องให้ข้าพเจ้าด้วย โดยให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลต้อนรับอาคันตุกะจากต่างประเทศ คือ รองคณบดีจาก
College of Veterinary Medicine, Michigan State University และภรรยา ซึ่งต่อมาทำให้ข้าพเจ้าได้รับการตอบรับเข้าศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับความช่วยเหลือจากภรรยาของท่านในการแนะนำสมัครทุนการศึกษาสำหรับสตรีที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา ความสำเร็จด้านการศึกษาปริญญาเอกของข้าพเจ้านี้ก็เริ่มมาจากความห่วงใยเอาใจใส่ของอาจารย์ต่ออนาคตของลูกน้องเหมือนความห่วงใยที่มีให้ลูกหลาน อาจารย์เทอดเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยที่อาจารย์เป็น young staff ของท่านอาจารย์เตียง ตันสงวน ท่านอาจารย์เตียงก็เป็นคนชี้ให้ว่าแต่ละคนจะไปศึกษาต่อที่ไหน ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอาจารย์เทอด และอาจารย์เทอดก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน

.jpg)
ข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทยหลังจากที่อาจารย์ย้ายไปเป็นรองอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่ยังได้มีโอกาสพบปะท่านหลายต่อหลายครั้ง เวลาที่ท่านมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสวนดอก ท่านมักจะเรียกข้าพเจ้าและบุคลากรรุ่นลายครามไปทานข้าวกลางวันด้วยอยู่บ่อยๆ ท่านมักจะให้คำสอน คำแนะนำ เกี่ยวกับการทำงาน และข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่าท่านยังคงมีความห่วงใยและความผูกพันกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอย่างมาก เมื่อคณะฯ เชิญท่านมาร่วมงานของคณะ ไม่ว่าจะเป็นพิธีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสในประเพณีสงกรานต์ หรือเชิญท่านมาเป็นเกียรติเพื่อรับฟังปาฐกถา “ประทีปดอยคำ” ในงานประชุมวิชาการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี ท่านจะมาร่วมงานด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขในทุกครั้งที่ท่านไม่ติดภารกิจอื่น



ในงานประชุมวิชาการสุขภาพสัตว์ภาคเหนือ ข้าพเจ้าในฐานะประธานฝ่ายปฏิคม จะได้รับมอบหมายให้จัดหาของที่ระลึกมอบให้อาจารย์เทอดในทุกครั้ง แต่ที่จำได้ไม่ลืม คือ ปี 2559 ข้าพเจ้าได้จัดหาของที่ระลึกเป็นกรอบภาพนูนพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อาจารย์เห็นแล้วก็ตาแดงๆ กล่าวว่าได้เห็นพระองค์ท่านแล้วรู้สึกเต็มตื้นอิ่มเอมในใจ ข้าพเจ้าคาดว่าพระองค์ท่านก็คงจะทรงเป็นที่เทิดทูนบูชาของอาจารย์เทอดอยู่ไม่ใช่น้อย อีกปีที่จำได้ไม่ลืมและคงเป็นครั้งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าจะได้ทำหน้าที่จัดหาของที่ระลึกให้อาจารย์ คือ ปี 2562 ไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้คิดว่าอาจารย์ท่านมีทุกอย่างในชีวิตแล้ว ความสวยงามหรูหราของชิ้นงานไม่น่าจะสำคัญเท่ากับความหมายของสิ่งที่จะมอบให้อาจารย์ เลยมีดำริว่าน่าจะเป็นบทกลอนประกอบชิ้นงานที่มีความหมาย สรุปสุดท้ายเป็นของที่ระลึก “ช้างเทิดประทีป” หมายถึง ลูกช้างทุกคนเทิดทูนประทีปที่มีอาจารย์เทอดเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ณ ดอยคำ ให้เป็นแสงสว่างแห่งแผ่นดิน พร้อมคำสัญญาจากลูกช้างฟ้าหม่นในการปฏิบัติงานทางสัตวแพทย์ด้วยแรงกายและแรงใจอย่างเต็มความสามารถ
ดวงประทีปดอยคำนำส่องแสง กำลังแรงแห่งแผ่นดินถิ่นสถาน
ช้างฟ้าหม่นลูกทุกคนตั้งปณิธาน ขอทำงานเพื่อปวงชนพ้นทุกข์ภัย
โรคอุบัติระบาดซ้ำทำคนหมอง สัตวแพทย์ตรองค้นหาทางแก้ไข
ดวงประทีปดอยคำบันดาลใจ เป็นหลักชัยเพื่อรับใช้แดนล้านนา

ข้าพเจ้าคงไม่อาจลืมภาพหลังจากที่พิธีกรอ่านกลอนจบและได้มอบของที่ระลึกให้อาจารย์ อาจารย์ยิ้มอย่างปลาบปลื้มมาก และกล่าวขอบคุณคณะสัตวแพทยศาสตร์ ที่ให้เกียรติอาจารย์อย่างมากตลอดมา และได้กล่าวฝากเรื่องการทำงาน รวมถึงอวยพรให้คณะฯ ประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรือง ช่วงแรกอาจารย์พูดเสียงสั่นๆ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่าอาจารย์เต็มตื้นและเอ่ยจากความรู้สึกภายในอย่างแท้จริง ถึงแม้วันนี้อาจารย์จะได้จากไปแล้ว แต่ความฝันและความหวังของอาจารย์จะยังคงอยู่ ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แห่งนี้ตลอดไปค่ะ
ผศ.สพ.ญ.ดร.ศิริพร ขุมทรัพย์