คำไว้อาลัย

แด่   รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. เทอด เทศประทีป

ด้วยความคิดถึงและความทรงจำที่ดียิ่ง

                “อาจารย์เทอดครับ อาจารย์ทำอย่างไรถึงทำให้ได้บรรณารักษ์ชำนาญการระดับ 8 มาทำงานด้วยได้”   เป็นคำถามที่อาจารย์เทอดเล่าให้ดิฉันฟัง เมื่อตอนตั้งคณะใหม่ๆ หลังจากที่อาคันตุกะจากกรุงเทพท่านหนึ่งกลับไปแล้ว ซึ่งคำตอบไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวในที่นี้   

                 โครงสร้างการบริหารของสำนักหอสมุด  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จะแบ่งเป็น ห้องสมุดกลาง และห้องสมุดคณะ, สถาบันต่างๆ  ในมหาวิทยาลัย  ซึ่งห้องสมุดคณะจะมีบรรณารักษ์ไปประจำทำงานบริหารและให้บริการห้องสมุดแก่นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรของคณะ  โดยคณะจะเป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณดำเนินการ อาคารสถานที่และอื่นๆ  หมายความว่าบรรณารักษ์จะสังกัดสำนักหอสมุด แต่ดำเนินการประสานงานกับคณะด้านการบริหารและดำเนินการต่างๆ   

                ในปีการศึกษา 2540  ภาคการศึกษาที่ 2  นักศึกษารุ่นแรกของคณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จำนวน 50 คน ตอนนั้นอยู่ในฐานะนักศึกษาชั้นปีที่  2  จะต้องเข้ามาเรียนที่คณะสัตวแพทยศาสตร์  ที่วิทยาเขตดอยคำ  ซึ่งตึกคณะสร้างเสร็จแล้ว   อาจารย์เทอดในฐานะคณบดีคนแรกหรือคณบดีก่อตั้ง คณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และผู้บริหารคณะขณะนั้น  ได้มีการออกแบบให้ อาคารห้องสมุดเป็นอาคารเอกเทศ ตั้งอยู่ระหว่างกลางกลุ่มอาคารเรียน อาคารงานบริหาร เพื่อความสะดวกสบายในการเข้าใช้ห้องสมุด   ทั้งรูปแบบอาคารห้องสมุดยังเป็นรูปร่างของยุ้งข้าวอันหมายถึงอู่ข้าวอู่น้ำหรือศูนย์รวมแห่งปัญญา  นั่นหมายถึงการเล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินการห้องสมุดเป็นอย่างมาก

                 นอกจากนั้น  อาจารย์เทอดได้วางหลักสูตร  ให้มีกระบวนวิชาหนึ่งชื่อกระบวนวิขา Veterinary Intergrated Problem Solving (VIPS) หรือวิชาไขปัญหาบูรณาการทางสัตวแพทย์    เรียนกันตั้งแต่นักศึกษาชั้นปีที 2 ถึงชั้นปีที่ 5  (VIPS I – VIPS 4)  ที่เน้นให้ นักศึกษาศึกษาค้นคว้าความรู้ด้วยตนเองจาปัญหาที่พบ  มีอาจารย์ประจำกลุ่มคอยชี้แนะเท่านั้น    อาจารย์เทอดได้สนับสนุนให้บรรณารักษ์สอนวิธีใช้ทรัพยากรห้องสมุด   ฐานข้อมูลต่างๆ รวมทั้งโปรแกรมที่ใช้จัดการข้อมูลบรรณานุกรม เพื่อจะได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองได้  วิชานี้ส่งเสริมให้นักศึกษานำเสนอผลการค้นคว้าแก้ไขปัญหาด้วยภาษาอังกฤษ   ดิฉันเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดคณะสัตวแพทยศาสตร์  จึงได้รับเกียรตินั้น 

                อาจารย์เทอด. มีความเป็นครูผู้ให้ความรู้ทั้งด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต  ดิฉันได้ฟังอาจารย์ให้โอวาทหรือให้ความรู้ในหลายโอกาส    เช่น  ในการกล่าวเปิดการประชุมวิชาการ  การปฐมนิเทศนักศึกษา  หรือการพูดคุยสนทนา  ในเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นและวัฒนธรรมล้านนาไปสู่สากล ตามแนวคิดที่ว่า “Think Globally Act Locally”   อีกประการหนึ่งอาจารย์จะเน้นเรื่อง  Valued  Added   คือการทำให้ตนเองมีคุณค่ามากขึ้นหรือโดดเด่น กว่าเดิม ในทุกๆ เรื่อง ด้วยการเพิ่มลักษณะพิเศษหรือจุดเด่นบางอย่างให้กับตนเอง  เช่น  สร้างความสามารถพิเศษ  ขยันหาความรู้   ฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ  กล้าแสดงออก  เป็นต้น

                 อาจารย์เทอด สร้างเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุนการทำงานของอาจารย์เป็นอย่างดี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราจะเห็นว่ามีอาจารย์ชาวต่างประเทศและอาจารย์ผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางต่างๆ จากสถาบันที่มีชื่อเสียงรับเชิญมาเป็นอาจารย์พิเศษ เสมอๆ   เหมือนกับว่าอาจารย์เหล่านั้นนอกจากมาให้ความรู้แก่นักศึกษาในยามที่คณะยังขาดแคลนอาจารย์ที่มีความรู้และประสบการณ์แล้ว     ยังได้มาเยี่ยมเยียนอาจารย์เทอดและอาจารย์คนอื่นๆ ที่ย้ายมาจากสถาบันเดิมด้วย 

                อาจารย์เทอด.เป็นผู้ที่เสียสละและรักงานด้านบุกเบิกจริงจัง     ทั้งๆ ที่ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ราวปี 2536  ไปขอร้องให้อาจารย์มาเป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   และต่อมาเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น อาจารย์ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         

               ในยุคแรกก่อตั้งคณะสัตวแพทศาสตร์ อาจารย์ บุคลากร  และนักศึกษารุ่นแรกๆ จะตระหนักดีว่า อาจารย์เทอดเป็นผู้วางรากฐานการทำงานของบุคลากร งานการเรียนการสอน งานวิจัย และงานบริการวิชาการของคณะสัตวแพทยศาสตร์   อาจารย์เทอดร่วมกับผู้บริหารคณะมีความพยายามนำสิ่งที่ดีที่สุดของโรงเรียนสัตวแพทยศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศมาดำเนินการให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ดังนั้นนับเป็นความโชคดีของชาวคณะสัตวแพทยศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง   เราอยู่กันแบบครอบครัว   มีการจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการ   จัดงานแต่งงานบุคลากร  ของคณะ  งานรื่นเริงสังสรรค์ที่คณะบ่อยๆ    ทำให้พวกเราได้ทราบความสามารถหนึ่งของอาจารย์คือ อาจารย์ร้องเพลงไพเราะมาก  เพลงที่อาจารย์เทอดชอบร้องประจำคือ  เพลง My way,  Release me  เป็นต้น

                ยุคแรกๆ  ห้องอาหารของคณะยังไม่มี ทุกคนต้องนำอาหารมาจากบ้านหรือออกไปรับประทานข้างนอกคณะ   ปีนั้นร้านข้าวแกงหน้าคณะยังขายราคาจานละ 10  บาท   อาจารย์เทอดเห็นเป็นโอกาสที่ชาวคณะจะได้มีความสมัครสมานสามัคคีและไม่ต้องเสียเวลาออกไปหาอาหารรับประทานเอง   จึงให้จัดเวรกันออกไปซื้ออาหาร และเฉลี่ยเงินค่าอาหารกันตามจ่ายจริง พวกเราจะสนุกสนานกันมาก และคิดหาร้านอาหารอร่อยๆ ที่จะไปซื้อมาบริการเมื่อถึงเวรของตัวเอง มีอาจารย์คนหนึ่ง ขอทำหน้าที่หุงข้าวทุกวันแทนการออกไปหาซื้ออาหารเนื่องจากไม่ถนัดหาร้านอาหาร  กิจกรรมนี้ทำให้พวกเรารักสามัคคีกันมากขี้น  อาจารย์เทอด พูดเสมอว่า บรรยากาศแบบนี้หายากนะ  ต่อไปจะไม่มีอีกแล้ว

                อาจารย์เทอดเป็นผู้บริหารที่มีจิตเมตตากรุณา เห็นคุณค่าของมนุษย์ทุกคน ให้ความ เท่าเทียมแก่บุคคลผู้ใต้บังคับบัญชา  ยกย่องชมเชยให้เกียรติทุกคน  อาจารย์เทอดสามารถค้นหาความสามารถของแต่ละคน  ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ  เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงาน  และงานที่ตนกำลังทำอยู่นั้นตนเองมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ (Self of belonging)  จึงทุ่มเททำงานให้กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ อย่างเต็มความสามารถ    ดิฉันคงจะเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานที่คณะนี้ ยามที่คณะยังขาดคนทำงาน  และหลงคำยกย่องชมเชยจากอาจารย์   จึงทุ่มเททำงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำอย่างเต็มความสามารถนอกเหนือจากงานในหน้าที่ประจำ   เช่น  ทำหน้าที่ประธานกรรมการจัดประชุมวิชาการการเสนอผลงานปัญหาพิเศษของนักศึกษาชั้นปีที่ 6 ตั้งแต่เริ่มรุ่นแรก  ปีการศึกษา 2544 จนถึงปี 2548   ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมต้องใช้ภาษาอังกฤษตลอดการประชุมวิชาการนี้ ,   ประธานการจัดการนำเสนอผลงานด้านโปสเตอร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 6 การจัดทำหนังสือที่ระลึกการเปิดตึกคณะ   การจัดทำหนังสือที่ระลึการเปิดโรงพยาบาลสัตว์เล็ก    การจัดทำห้องประวัติและพิพิธภัณฑ์  เป็นต้น   แต่อาจารย์เทอดไม่ได้ใช้งานคนอย่างเดียว  ถึงเวลาสนับสนุน อาจารย์เทอดก็ให้การสนับสนุนเต็มที่  เช่น เมื่อดิฉันต้องการไปศึกษาดูงานห้องสมุดทางด้านสัตวแพทยศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา  ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล  เพื่อกลับมาพัฒนาห้องสมุดให้ดียิ่งขึ้น  อาจารย์ก็กรุณาอนุมัติงบประมาณเป็นทุนส่วนหนึ่งในการไปศึกษาดูงานครั้งนั้น

                   ปี พ.ศ. 2544  มีข่าววงในว่า อาจารย์เทอดจะย้ายไปบุกเบิกก่อตั้งบริหารงานที่มหาวิทยาลับแม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย   ทุกคนตกตลึงกับข่าวนี้  วิพากษ์วิจารณ์กันว่า อาจารย์จะทิ้งพวกเราไปได้ยังไง  บ้างก็เสียอกเสียใจ น้อยใจว่าอาจารย์ไม่รักคณะสัตวแพทย์ฯ เราแล้วหรืออย่างไร   บ้างก็เข้าใจอาจารย์ว่าอาจารย์ชอบงานบุกเบิกมาก  และจะไปทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง   แต่อาจารย์ก็ไม่ได้ทิ้งพวกเราเสียทีเดียว ยังคงเมตตาแวะเวียนมาหาเมื่ออาจารย์กลับมาเชียงใหม่  มาเป็นขวัญและให้กำลังใจ มาเป็นที่ปรึกษา และมาให้รดน้ำดำหัวขอพรขอขมายามเทศกาลสงกรานต์  หรือกิจกรรมวันเกิดคณะ  พวกเราทราบข่าวว่าอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอย่างมีความสุข  

                   วันที่  21 เมษายน 2563 ทราบข่าวจากอาจารย์ที่เคารพนับถือและเป็นผู้บุกเบิกคณะสัตวแพทยศาสตร์คนหนึ่ง กรุณาส่งข่าวว่าอาจารย์เทอดเสียชีวิตแล้วอย่างกะทันหัน     ด้วยความเคารพรักความนับถือและความผูกพันที่ดิฉันและเชื่อว่าพวกเราชาวคณะสัตวแพทยศาสตร์ทุกคน ที่มีต่ออาจารย์เทอด  ยังความโศกเศร้า เสียใจ และอาลัยอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง   ขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์เทอด ที่มีคุณูปการ  เมตตาสนับสนุนห้องสมุดและตัวดิฉันเองมาโดยตลอด  

                    ขอถือโอกาสนี้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังครอบครัวของอาจารย์เทอด เทศประทีป และขอให้อำนาจแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก  โปรดนำพาดวงวิญญาณของอาจารย์ไปสู่สุคติด้วยเทอญ และแน่นอนที่สุดที่อาจารย์เทอดจะอยู่ในความคิดถึงและความทรงจำที่ดียิ่งของพวกเราตลอดไป


นวลลออ​ จุลพุ์ปสาสน์​

หัวหน้าบรรณารักษ์รุ่นแรก

คำไว้อาลัยท่านอื่น