คำไว้อาลัย
ด้วยความอาลัยรักยิ่ง
รองศาสตราจารย์ นสพ. ดร. เทอด เทศประทีป เป็นสัตวแพทย์ รุ่น 25 ก่อนผม (สพ 26) หนึ่งรุ่น อาจารย์ เทอด เป็นคนเก่งหล่อสมาร์ท เรียนดีมาก เป็นนักกีฬา มีใจกว้างเอื้ออารี มีอารมณ์รื่นเริง พูดจานุ่มนวลชวนฟัง จะหัวเราะอย่างร่าเริงเสมอเวลาพูดคุยกัน จะแซวใครก็แซวแบบสนุกน่ารักไม่ทำให้ใครโกรธหรือ หงุดหงิด เราสนิทสนมคุ้นเคยกัน เราอยู่หอเดียวกันหลายปีในหอพักของคณะสัตวแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว) ถนนสนามม้า (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนอังรีดูนังต์) ปทุมวัน อาจารย์เทอดเป็นที่รักชอบพอของทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องทั้งคณะทั้งที่พักอยู่ในหอพักด้วยกันและที่ไม่ได้อยู่หอพักของคณะก็ตาม
อาจารย์เทอด อยู่ห้องเดียวกับ นสพ ชูชาติ สายเชื้อ (สพ 26 รุ่นเดียวกับผม) ซึ่งถัดห้องพักผมไปไม่กี่ห้อง เราจะไปรวมกันสรวลเสเฮฮาบ่อยๆ บางครั้งก็เล่นไพ่บ้าง จากที่ชอบคุยหยอกล้อสนุกสนานเฮฮากันบ่อยๆ อาจารย์เทอด ได้เล่าถึงสาเหตุการเขียนชื่อภาษาอังกฤษ ของอาจารย์ ว่า Ted ก็มีประวัติความเป็นมาเป็นที่เฮฮาทีเดียว
น้องชายของอาจารย์เทอด พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป สมัยเป็น นร นายร้อย จปร รูปหล่อ สุภาพ เรียบร้อย เรียนเก่งมาก ได้รับคัดเลือกเป็นหัวหน้าตอนของชั้นใน รร. นายร้อย จปร มักจะแวะไปพัก กับ อาจารย์บ่อยๆ เมื่อได้รับอนุญาต ให้กลับบ้านได้
อาจารย์เทอดกับผมมีความคุ้นเคยยิ่งขึ้น ในปี 2511 อาจารย์ เทอด กับผม ซึ่งต่างเป็นอาจารย์ใหม่ ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสร่วมถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช พระเจ้าอยู่หัว ร.9 ร่วมกับ ศาสตราจารย์ นสพ ม.ร.ว.ชนาญวัตร เทวกุล นพ. อุทัย รัตนิน ในการดูแลรักษาโรคตาอักเสบของพระเศวตสุรคชาธาร ช้างคู่พระบารมีฯ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะเวลารวม 40 วัน เราพักอยู่บ้านเดียวกันตลอดระยะเวลาดังกล่าว นอกจากเราทั้งสองจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้เข้าเฝ้า กราบเบื้องพระบาทอย่างใกล้ชิดมากๆ แล้ว ต่อมายังได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 9 (ชั้น 5 และ 4)ด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เราเคยร่วมหุ้นกันซื้อที่ดินผืนเดียวกัน ที่สุขุมวิท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งจัดสรรขายผ่อนให้กับอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2511-12 (เพราะเราผ่อนไม่ไหวถ้าแยกซื้อคนละแปลง)
เมื่อเราสำเร็จการศึกษาต่อจากต่างประเทศ กลับมาทำงานที่คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ เราได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดหลายเรื่อง ต่างเป็นรองคณบดี ในสมัย รศ นสพ ประสิทธิ์ โพธิปักษ์ เป็นคณบดี โดย อาจารย์เทอด เป็น รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ส่วนผมเป็นรองคณบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ (ซึ่งจัดตั้งเป็นครั้งแรก) เราตีพิมพ์บทความวิชาการร่วมกัน อาจารย์เทอดจะไปช่วยผมทุกปี พานิสิตไปฝึกงานด้านป้องกันและรักษาโรคสัตว์ในโครงการสัตวแพทย์อาสาพัฒนาชนบท โครงการที่มีการเรียนการสอนใช้ระบบสหสาขาทางสัตวแพทย์ หรือ Problem based learning ซึ่งผมเป็นผู้อำนวยการโครงการฯ
แม้ว่าในเวลาต่อมา ภารกิจของเราต่างมากขึ้นเมื่อ อาจารย์เทอด ไปรับหน้าที่เป็นคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะที่ผมไปเป็น ผอ สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทุกครั้งที่ทราบว่าผมขึ้นไปเชียงใหม่ อาจารย์ ก็จะไปรับผมไปเที่ยว ไปดื่มและรับประทานอาหาร ซึ่งเราจะคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องงานและแชวกันไปมาอย่างสนุกสนานเฮฮาได้รสชาดเหมือนตอนเราเป็นนิสิตอยู่หอพัก
แม้ว่าในปีต่อๆมา เราจะมีภารกิจเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อ อาจารย์เทอดไปรับตำแหน่ง รองอธิการบดี อธิการบดี และที่ปรึกษาที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ส่วนผมเป็นรองอธิการบดีและ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เราก็ยังติดต่อและโทรศัพท์คุยกันเมื่อคิดถึงกันและหารือสอบถามกันตลอด
การที่รองศาสตราจารย์ นสพ ดร.เทอด เทศประทีป ได้ทำคุณประโยชน์ สร้างสิ่งต่างๆมากมายให้กับการศึกษาของชาติ ทั้งที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งหลายท่านคงได้กล่าวไว้แล้ว และจากการที่ วันเวลาที่ผ่านนานเพียงไร ท่านยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เป็นที่รัก เคารพและนับถือของคนในวิชาชีพ เป็นที่ไว้วางใจรับหน้าที่รับผิดชอบงานต่างๆจนกระทั่งวันสุดท้าย เมื่อทราบว่าท่าน ได้จากเราไปแล้ว ทำให้ทุกคนรู้สึกใจหายและเสียใจและเสียดายอย่างยิ่ง
ขออำนาจคุณความดีทั้งหลายที่ รศ. นสพ. ดร. เทอด เทศประทีป ได้สร้างสมไว้มากมายให้กับสังคม และคุณธรรมความดีจากอุปนิสัยที่น่ารัก น่าเคารพนับถือ ที่ท่านมีต่อ ครอบครัว ต่อญาติพี่น้อง ต่อรุ่นพี่รุ่นน้องและเพื่อนร่วมวิชาชีพ ต่อเพื่อนร่วมงานมาตลอดชีวิต ส่งเสริมให้ท่านมีความสุขสงบในสัมปรายภพเทอญ
10 กรกฎาคม 2563
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ