คำไว้อาลัย
อาลัยอาจารย์เทอด
ผมรู้จักอาจารย์เทอดครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ท่านนั่งอยู่ในห้องรองปริตนา ซึ่งขณะนั้น อาจารย์ปริตนาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหารอยู่ อาจารย์ปริตนาแนะนำว่าอาจารย์เทอดจะมาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เคยเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะที่ผมเป็นคณบดีสำนักวิชาศิลปศาตร์และผู้กำกับศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร ทำให้ต้องรู้จักและทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของท่าน อาจารย์เทอดเป็นผู้ที่ไม่ถือตัว มีเมตตา เข้าใจและใส่ใจในปัญหาแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ความใจเย็นและรอบคอบทำให้งานทุกเรื่องผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย ในเรื่องงานเช่น ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ในด้านการสอนภาษาอังกฤษ และความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสอนภาษาจีนที่ดำเนินการภายใต้ ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร
ในปี พศ. 2546 อาจารย์เทอดบอกผมว่าท่านอธิการบดีต้องการให้จัดตั้งศูนย์บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้น ผมรับปากและเขียนโครงการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสนอต่อมหาวิทยาลัย โดยให้ผมสิ้นสุดพ้นจากการรักษาการคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์และศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร การเริ่มต้นงานใหม่ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ท่านอธิการบดีผู้ก่อตั้ง รศ. ดร. วันชัย ศิริชนะ และอาจารย์เทอด คงเห็นว่าผมคงจะสามารถก่อตั้งหน่วยงานใหม่นี้ได้ โดยจัดสรรเจ้าหน้าที่มาเป็นทีมงาน 2 คน จากส่วนกลางตลอดระยะเวลานานพอสมควรที่มาทำหน้าที่และตำแหน่งใหม่ ผมก็ยังคงสอนในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป จนถึงปี 2549 อาจารย์เทอดลืมที่จะแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เพราะได้รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มา 3 ปี และได้ทำงานอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการจนครบวาระ4 ปี ในปี 2553 ในช่วงเวลาดังกล่าวที่เป็น ผอ. ศูนย์บริการวิชาการ มีงานมากมาย ที่ต้องขอคำปรึกษาและช่วยประสานงานระดับสูง ท่านก็เมตตาให้ความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี มาโดยตลอด

ภายหลังที่ผมได้พ้นการเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแต่ก็คงรับผิดชอบด้านการเรียนการสอน การควบคุมการศึกษาอิสระ วิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ เพราะสังกัดอยู่ในสำนักวิชาศิลปศาสตร์ เมื่ออธิการวันชัย ศิริชนะ หมดวาระ 4 ปี มหาวิทยาลัยจึงได้ตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ซึ่งอาจารย์เทอดได้รับความไว้วางใจ ผ่านการสรรหาให้เป็นอธิการบดีคนที่ 2 แต่เพราะมีภาวะความเจ็บป่วย หลายอย่าง ทั้งโรคหัวใจ สายตา และการเคลื่อนไหว ต้องผ่าตัดเปลี่ยนสะบ้าหัวเข่า จึงต้องลาออก โดยอยู่ในตำแหน่งเพียง 1 ปี แต่มหาวิทยาลัยยังเห็นว่าอาจารย์ เป็นผู้ที่มีคุณภาพ สร้างคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด จึงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอธิการบดี ไปจนถึงหมดวาระอธิการบดี รศ. ดร. วันชัย ศิริชนะ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2562
ผมกับอาจารย์เทอดมีอะไรที่คล้ายๆกัน เช่น ชอบชอปปิ้ง ชอบฟังเพลง ชอบเทนนิส เป็นต้น อาจารย์มีทักษะในการต่อรองราคา คราวหนึ่งที่ไปเมืองจีน จำได้ว่าอาจารย์จะต่อราคานานมาก และก็น่าประหลาดใจที่ต่อแล้วก็มักจะได้ผล เช่น คนขายบอกราคา 200 หยวน อาจารย์ต่อราคาว่า 80 ได้ไหม ซึ่งในที่สุดก็ได้ในราคา 100 หยวน จนอาจารย์ชาวจีนที่ไปด้วยเดินหนีเพราะการต่อรองรุนแรงมาก ผมเอ่ยถามว่าทำไมต่อแบบกดราคาแบบนี้ ท่านก็บอกว่า ถ้าไม่ได้กำไร เขาไม่ขายอยู่แล้ว การซื้อขายแบบนี้คนขายเขาจะบอกผ่าน ตั้งราคาไว้สูงๆ สิ่งที่อาจารย์ชอบมากอีกอย่างคือ รองเท้า ไม่ว่าใหม่หรือมือสอง ก็เลือกแบบพิถีพิถัน จนได้สมใจ ปกติจะซื้อได้ง่ายเพราะไม่มีคนซื้อ เบอร์ 43
ในช่วงหน้าหนาว (บางครั้งก็ยังไม่หนาว) อาจารย์นิยมใส่เสื้อกั๊ก เสมอๆ โดยให้เหตุผลว่าร่างกายต้องอบอุ่น ถ้าหากถามถึงหมวก ก็นิยมใส่ในหน้าหนาวทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เรียกได้ว่าถ้าเกิดมีหิมะตก อาจารย์จะรอดคนเดียว สิ่งที่เป็นของโปรดและชอบสุดชีวิตคือรถเบนซ์ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาได้ซื้อมาใช้หลายคัน คันแรก 300 E (W124)ผมไปขับให้จากเชียงใหม่ คันนี้เปลี่ยนสีจากสีฟ้าเป็นสีดำ และไปซื้อเครื่อง E 280 มาใส่ คันที่ 2 E 220 (W124) คันนี้ใช้ไม่นาน โดยบอกว่าเครื่องมันเล็กไป ต่อมา ได้ S Class คันที่3 S280 (W140) สีเทา ใช้พักหนี่งก็เปลี่ยนเป็น S 550 V8 (W211)เป็นคันสุดท้าย รถเบนซ์เป็นรถในอุดมคติ ชอบตกแต่งเพิ่มนั่นเติมนี้ วันหยุดคือวันที่ต้องคิดว่าจะทำอะไร หลายๆอย่าง ไม่ใช่เครื่องยนต์อย่างเดียว ตัวอย่างที่จำได้ว่าอาจารย์ลงไปถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น ลอกสีกระทะล้อรถเจียรล้อพ่นสีล้อแม็ก อาจารย์ชอบติดฟิลม์กันแดดแต่เจาะหน้าต่างเอาไว้มองรถข้างหลัง จ้างช่างลบรอยหม่นและขัดไฟครอบไฟหน้ารถเบนซ์ รุ่น S 550 เปลี่ยนหน้าปัดใหม่ เป็นต้น ผมเลยถามอาจารย์เล่นๆ เลยว่า “เปิดอู่ซ่อม ตกแต่งรถเลยไหม”
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจารย์เทอด อาจารย์ปริตนาและผมส่วนใหญ่จะชวนกันออกไปกินข้าวกลางวันนอกมหาวิทยาลัย อาจารย์เทอดมักจะพูดติดปากว่า “เพื่อนกินหายากเพื่อตายหาง่าย” เป้าหมายไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ปาก แต่ส่วนมากมักจะมีอยู่ในใจของผู้อาวุโสอยู่ก่อนแล้ว โดยมีร้านตั้งรอบมหาวิทยาลัยและที่ใกล้สุดก็คือร้านหน้ามอ ถ้าไปไกลก็จะไปกินข้าวแกงไทยร้านนายตู่ นายต่อ อาหารปักษ์ใต้ เชียงรายเนื้อตุ๋น ข้าวมัน บ้านดู่เมืองใหม่ ส่วนอาหารอิสลามจะมีสองร้านที่ไปประจำคือร้านซาลีมา ก็จะกินเนื้อแดดเดียว ขนมจีนน้ำยา และร้านซากีน่า ก็จะสั่งประจำคือข้าวราดแกงกะหรี่ ซุปหางวัว ข้าวซอย ถ้าไปร้านลาบมักจะไปกินร้านต๋าหวัด ร้านนี้คนขายลำบากใจนิดหน่อยก็เพราะจะบอกว่าไม่เผ็ด คนขายบอกว่าจะทำลาบไม่เผ็ดมันจะเป็นลาบได้อย่างไร หรือสิ่งที่อาจารย์เทอดโปรดมากอีกอย่างของร้านนี้ก็คือสะไบลวกจิ้มแจ่ว ลาบหมูคั่ว ซ่าสะดุ้ง ต้มแซ่บ สำหรับก๋วยเตี๋ยวที่ง่ายที่สุดก็แถวหน้ามอมีร้านหมูนารี ที่ไปประจำ พอไปถึงก็มักจะถามหาเครื่องในซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากเช่นกัน อาหารอันตรายอีกอย่างที่ชอบมาก คือข้าวขาหมู พิเศษคือ เนื้อหนัง คากิ ผมเคยเตือนหลายครั้งว่าขาหมูนี้น่าจะเบาๆ หน่อยแต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องแอบไปกินบ่อยๆ บางครั้งนึกอยากกินอาหารอีสานก็จะไปที่ไก่ย่างวิเชียรบุรี สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ส้มตำปูปลาร้า ตีนไก่ ปีกไก่ย่าง แทะกันสนุกทีเดียว ภายหลังที่หมดวาระการทำงานทีมหาวิทยาลัย ผมกับอาจารย์ก็ยังนัดออกมาทานด้วยกันอยู่บ้างแต่ไม่บ่อยนักเพราะเกรงใจที่ต้องขับรถมาไกลจากแม่จัน เกือบลืมไปว่าอาหารที่อาจารย์เทอดชอบทานเสมอก็คือก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยาหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎ ร้านนี้เวลาเดินเข้าไปเจ้าของร้านจะรีบเอากากหมูคั่วมาให้กินก่อน ผมกับอาจารย์ปริตนา แอบนินทาว่าดูเดี๋ยวอาจารย์เทอดต้องไปกำชับแม่ครัวสั่งเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ เช่น ลวกไม่สุก ลวกเนื้อแบบสะดุ้ง สำหรับอาหารภาคเหนือนอกจากลาบแล้ว อาจารย์เทอดยังชอบทานหลู้สดๆ แต่ภายหลังก็เลิกรับประทานไปแล้ว ในบางโอกาสที่ท่านอยากทานอาหารไทย ทางบ้านผมก็จะทำส่งให้ประจำ โดยเฉพาะแกงเขียวหวานเนื้อ เป็นของโปรดเลยทีเดียว และความที่อาจารย์เป็นคนรักสุนัข เวลาไปทานอาหาร ก็มักมีของฝากสุนัขที่เลี้ยงไว้ หรือแวะซื้อของโปรดไปฝากสุนัขที่บ้านด้วยทุกครั้ง

เป็นเรื่องที่น่าสังเกตุมากที่สุดในความจำของอาจารย์เทอด คือการใช้ภาษาเยอรมัน แม้ว่าจะจบปริญญาเอกมานาน แต่ยังสามารถสื่อสาร พูดและเขียนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งความรู้ทางสัตวแพทยศาสตร์ เวลาถามอะไรนิดหน่อย ก็อธิบายเสียยืดยาว แสดงว่าสมองยังคงทำงานได้ดี แม้ในช่วงหลังๆ จะมีปัญหาทางการได้ยินบ้างก็ตาม
มีอีกเรื่องหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงอาจารย์เทอดไม่ได้ก็คืออาจารย์เทอดเป็นผู้ที่ชอบร้องเพลง เพลงที่ร้องนั้นสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและเห็นแนวคิดจิตใจที่มีต่อโลกสังคมตัวอย่างเช่น เพลง For the Good Times โดย PERRY COMO เพลง That's Amore โดย DEAN MARTIN เพลง My Way โดย FRANK SINTRA กับ Wooden heart โดย ElVIS PRESLEY การพบกันบนเวทีทุกแห่งจะต้องมีเสียงเพลงจากอาจารย์เทอด ไม่เพลงใดก็เพลงหนึ่ง แต่ไม่ชอบร้องเพลงไทยเลย
ความทรงจำที่ดีต่ออาจารย์เทอดนั้นมีมากมายเกินที่จะเขียนไว้ในที่นี้ได้เพราะตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ได้รู้จักกันนั้น ผมคิดเสมือนว่าอาจารย์เทอดเป็นพี่ชายคนหนึ่ง เป็นคนใจดีมีศีลธรรม ไม่เคยคิดร้ายกับใคร หากมีโอกาสก็ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแม้จะไม่ร้องขอก็ตาม อย่างตอนที่ผมเจ็บป่วยอาจารย์ก็ติดต่อแพทย์ทางเชียงใหม่ให้อย่างรีบด่วน และนำผมไปส่งถึงมือหมอที่เชียงใหม่เลยทีเดียว ความเป็นสุภาพบุรุษของอาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนรุ่นใหม่

สิ่งที่ไม่อาจจะลืมได้เลยก็คือไม่กี่วันก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต อาจารย์เทอด แวะมาที่บ้านในช่วงโควิดระบาด เกรงว่าผมจะไม่มีอะไรทานจึงแวะซื้อแหนมเนืองหนึ่งถุงกับผัดสะตอมาให้ด้วย บอกว่าไม่เข้าไป อยู่ห่างๆ กันไว้แล้วเดี๋ยวจะติดโควิด อาจารย์เทอดแต่งตัวรัดกุมรวมทั้งใส่หน้ากากอนามัยด้วย นับเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย เมื่ออาจารย์สิ้นชีวิต ผักกับแหนมเนืองยังกินไม่หมดเลย
ผมถือว่าโชคดีมีบุญที่ได้รู้จักอาจารย์ ตั้งแต่แรกมาทำงานที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จนวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านจึงเป็นทั้ง พี่ เพื่อนผู้ร่วมคิดร่วมทำงานซึ่งตัวเองไม่เคยพบปะผู้ใหญ่ที่มีจิตใจกว้างขวาง มีน้ำใจมีความเมตตาแก่ผู้น้อยเพื่อนร่วมโลกและมองโลกอย่างมีความสุข
การจากไปอย่างกระทันหันของอาจารย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้ร่ำลาอะไรกัน และอาจารย์ก็น่าจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้นานกว่านี้ ก็ขอให้อาจารย์ไปสู่ภพภูมิที่ดี และมีความสุขตลอดไปนะครับ
ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง