คำไว้อาลัย

อาจารย์เทอดที่ผมรู้จัก


ผมได้เป็นสมาชิกใหม่ของหน่วยพยาธิฯ ในปี 2533 โดยความกรุณาของสามทหารเสือของหน่วยฯ อาจารย์เทอด อาจารย์บุญมีและอาจารย์เล็ก ในอัตราของท่านอาจารย์พิเคราะห์ ซึ่งในภาพงานเลี้ยงที่บ้านอาจารย์พิเคราะห์ จะมีคุณประไพ ภรรยาของอาจารย์พิเคราะห์ กับสามทหารเสือของหน่วยฯ ถ่ายภาพร่วมกันประมาณปี 2534 นอกจากทำหน้าที่เลขานุการหน่วยฯ และยังได้รับโอกาสจากอาจารย์เทอด ซึ่งดำรงตำแหน่งรองคณบดีวิชาการ ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยงานฝ่ายวิชาการในตำแหน่ง เลขาฯ ต่อจากอาจารย์ช้าง ที่ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่แคนาดา ได้เรียนรู้วิธีการทำงานบริหารและมุมมองดีๆ จากอาจารย์เทอดมาโดยตลอด ก่อนที่จะได้รับโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโท-เอก ณ Iowa State University ในปี 2535 โดยทุนรัฐบาล ในช่วงที่อาจารย์เทอด เป็นคณบดีก่อตั้ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์เทอดและอาจารย์ตุ่น ได้เดินทางมาคณะสัตวแพทย์ฯ หลายที่ในอเมริกา เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ และอาจารย์เทอดยังได้แวะมาเยี่ยมที่ Ames, Iowa ดังภาพที่แนบ ผมยังได้รับโอกาสจากท่านอาจารย์ให้ไปช่วยสอนวิชาพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์ ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 12 รุ่น และได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์เทอดทุกครั้งที่ได้พบ และได้รับเกียรติเป็นองค์ปาฐก ในปาฐกถาประทีบดอยคำ แด่ ท่าน รศ. น.สพ.ดร. เทอด เทศประทีป เป็นครั้งสุดท้าย ในงานประชุมวิชาการสุขภาพสัตว์ภาคเหนือ ประจำปี 2562  วันที่ 10 ธันวาคม 2562 ยังคงได้รับคำปรึกษาจากท่านอาจารย์มาโดยตลอด

คุณูปการของท่านอาจารย์เทอดต่อหน่วยพยาธิวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รวมทั้งในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นั้น ผมจะขอรำลึกถึงความกรุณาของอาจารย์เสมอครับ จากศิษย์พยาธิฯ จุฬาฯ

16 พฤษภาคม 2563

ศ.น.สพ.ดร. รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช

คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

คำไว้อาลัยท่านอื่น