คำไว้อาลัย

ขออนุญาตเขียนเพื่อรำลึกถึง รศ.ดร.เทอด เทศประทีป อดีตอธิการบดี และรักษาการคณบดีสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล) กับความผูกพันที่มีให้กับสำนักฯ และตัวผม

ปี 45 ผมเป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์แห่งหนึ่งในภาคอีสาน ท่านอาจารย์ชลอ (รศ.ดร. ชลอ ว่องวัฒนาภิกุล) ได้ชวนให้ผมมาร่วมทำงานก่อตั้งสำนักวิชานิติศาสตร์ที่เชียงราย และได้มีการนัดสอบสัมภาษณ์กันที่สำนักงานของ มฟล ที่กรุงเทพฯ ได้เจอผู้บริหารระดับสูงทุกท่านทั้งอธิการบดีวันชัย และท่านอาจารย์เทอด(ซึ่งตอนนั้นท่านดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ) ที่จำได้แม่นเพราะท่านถามคำถามที่ยากทั้งทางวิชาการ และเชิงบริหารสำนักฯ และถามมากที่สุดในบรรดากรรมการทั้งหมด ท่านเป็นคนร่างใหญ่ดูน่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่งในขณะนั้น ตอนที่เสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ ท่านถามว่าจะมาทำงานได้เมื่อไร?

 ปี 46 ผม และอาจารย์ชุดบุกเบิกจัดตั้งสำนักนิติฯ มฟล ได้เดินทางมาดูสถานที่ทำงานในช่วงต้นปี และมาเริ่มทำงานจริงที่ มฟล เมื่อวันที่ 9 เมษายน ซึ่งได้เจอท่านอาจารย์เทอดที่มหาวิทยาลัย ท่านเข้ามาทักทายอาจารย์สำนักนิติฯหน้าใหม่ที่มาบุกเบิกก่อตั้งสำนักฯทั้งหลาย ณ ที่ทำการสำนักฯ ตอนนั้น คือ อาคารส่วนหน้า ซึ่งในปัจจุบันที่เป็นอาคารอนุสรณ์สถานของมหาวิทยาลัยฯตอนนี้ ท่านอาจารย์เทอดก็ได้ให้กำลังใจ และขอให้อาจารย์ใหม่รุ่นบุกเบิกทุกท่านช่วยทำให้สำนักวิชานิติศาสตร์เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า และท่านได้เดินมาถึงห้องทำงานที่ผมใช้นั่งทำงานเป็นครั้งแรกที่ มฟล แล้วบอก “โอ้...อาจารย์ชูเกียรตินั่งทำงานที่ห้องทำงานเดิมของผมเลยนะครับ” ผมก็บอกท่านไปว่าผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงมากครับ (แต่ในใจคิดว่า ห้องที่ผมเลือกนี้อยู่ไกลสุดเหมาะกับผู้ที่มีความอาวุโสน้อยอย่างเราในขณะนั้นนั่งแล้วนะ) ท่านบอกว่าห้องนี้เงียบดี เหมาะที่จะทำงานวิชาการมาก 

ปี 47 ผมเองต้องเดินทางไปเรียนต่อ ปริญญาเอกด้านกฎหมายอวกาศ ที่ ม. ไลเดน เนเธอร์แลนด์ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ ผมได้ไปกราบลาท่านอาจารย์เทอดในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ท่านพอทราบว่าจะไปเรียนที่ ม. ไลเดน ท่านดูดีใจ มีความสุขมาก และช่วยแนะนำการเรียนการใช้ชีวิตในยุโรปอย่างเต็มที่ เพราะท่านก็เรียนจบมาจากยุโรป ผมเริ่มมีความรู้สึกประทับใจท่านมากยิ่งขึ้นในความมีเมตตา และความมีน้ำใจของท่าน

ปี 51 ผมได้เรียนจบและกลับมาเริ่มงานในวันที่ 2 มกราคม โดยได้ไปรายงานตัว และทำงานในฐานะอาจารย์ตามปกติที่สมัครมาตามเดิม และไม่ค่อยได้พบกับท่านอาจารย์เทอดบ่อยนัก ยกเว้นช่วงที่มีงานกิจกรรมทางวิชาการของมหาวิทยาลัย

ต่อมาเมื่อท่านอธิการบดีวันชัยหมดวาระครั้งแรก ทราบว่าท่านอาจารย์เทอดจะขึ้นเป็นอธิการบดีคนต่อไป ก็รู้สึกยินดีกับท่านด้วยเมื่อทราบข่าวนี้และท่านอาจารย์เทอดเองก็มีความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ วันหนึ่งตอนเย็น ผมสอนหนังสือเสร็จก่อนจะกลับที่พักใน มอ ก็ได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์เทอด เชิญให้ผมมาพบโดยบอกว่าท่านได้จอดรถรออยู่ที่ใต้ตึก E2 ที่ผมทำงานอยู่ ผมลงไปพบท่านและได้นั่งรถไปกับท่าน ท่านได้เอ่ยปากชวนผมให้มาร่วมทีมทำงานบริหารกับท่าน(ขณะนั้นผมมีความคิดสองอย่างในสมอง 1) ปฏิเสธไม่รับงานบริหารใดๆ ทั้งสิ้นเพราะจะลุยงานวิชาการตามที่ตั้งใจมาตั้ง แต่ครั้งเรียนอยู่ต่างประเทศ และเริ่มเบื่อกับงานบริหารที่เคยทำมาก่อนที่จะมาอยู่ที่ มฟล และ 2) ตอบรับ เพราะต้องการพิสูจน์ตามคำบอกกล่าวของเพื่อนๆ นักเรียนไทย เนื่องจากตอนไปเรียนที่ยุโรปได้ทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนไทยในเนเธอร์แลนด์โดยเฉพาะลูกศิษย์และลูกน้องเก่าของอาจารย์เทอด ต่างบอกว่าท่านอาจารย์เป็นอาจารย์ที่ดีเป็นหัวหน้าที่ประเสริฐหาได้ยากยิ่ง ท่านส่งเสริมให้โอกาสลูกน้องเสมอ ตามที่ทราบผมเลือกที่จะไปทำงานช่วยท่านในตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี ที่ดูแลส่วนพัฒนานักศึกษา ส่วนจัดหางาน และสำนักงานตัวช่วยฯ ที่ขึ้นตรงต่อท่านอาจารย์เทอดโดยตรง การทำงานก็มีปัญหาอุปสรรคต่างๆในทางบริหารเป็นปกติแต่ทุกครั้งที่มีปัญหาท่านจะเข้ามาช่วยดูแลและแนะนำ การทำงานกับท่านอาจารย์เทอดในช่วงนี้ผมได้รับคำตอบตามที่ผมได้ทดลองพิสูจน์คำพูดที่เพื่อนนักเรียนไทยที่เคยทำงานกับท่านมาก่อนว่าเป็นจริงตามคำเล่าลือ “ท่านเป็นสุภาพบุรุษ” ที่ยอมเจ็บแต่ไม่กล่าวโทษใครที่ทำไม่ดีกับท่าน ช่วงนี้ผมได้สนิทกับท่านมาก ท่านเหมือนครู เหมือนพ่อ ที่หวังดีกับผม สั่งสอนผมให้ผมมีความสามารถในเชิงบริหารมากยิ่งขึ้น

หลังจากที่ท่านลงจากตำแหน่งอธิการบดี ผมเองก็ขอลงจากตำแหน่งบริหารด้วยแม้ว่าท่านอธิการบดีวันชัยจะโทรมาตามให้ไปช่วยงานท่านต่อ แต่ก็กราบขออนุญาตปฏิเสธ และขอกลับมาช่วยทำงานวิชาการที่สำนักวิชาฯ ตามความมุ่งหวังเดิม และได้ช่วยงานสำนักในตำแหน่งรองคณบดีอยู่หนึ่งปี และลาออกมาเป็นครูสอนกฎหมายตามเดิม แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดเมื่อกระทรวง ICT ในขณะนั้นได้ติดต่อมาขอให้ผมไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศด้านอวกาศ (Asia-Pacific Space Cooperation Organization) ในนามเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิก ผมได้ปรึกษาท่านอาจารย์เทอดและคณบดีอภิรัตน์ในขณะนั้นท่านเห็นด้วยว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย กับ มฟล และกับตัวผมเอง ตกลงผมสมัครไปเมื่อได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์เทอด และอธิการบดีวันชัยท่านก็สนับสนุน ในที่สุดผมก็ได้ไปทำงานที่ประเทศจีนตามประสงค์

วันหนึ่งระหว่างทำงานที่กรุงปักกิ่งผมได้รับอีเมล์จากเมืองไทยให้ผมช่วยติดต่อกลับท่านอาจารย์เทอดด้วย ผมได้โทรศัพท์จากประเทศจีนมาหาท่าน ท่านอาจารย์เทอดถามผมว่าสบายดีไหม แล้วทำอยู่ในตำแหน่งอะไร มีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง ผมบอกท่านว่าทำอยู่ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รอขึ้นรองเลขาธิการฯตามตำแหน่งโควต้าของประเทศไทยตามที่สมัครมาครับ ท่านถามผมว่าจะเป็นอะไรไหมถ้าท่านจะขอร้องเรื่องสำคัญจากผม ผมบอกว่ายินดีถ้าผมทำได้ไม่มีปัญหา ท่านบอกว่าอยากจะขอให้ผมเดินทางกลับมาทำงานที่สำนักนิติฯด่วน มาช่วยท่านทำงานบริหารและวิชาการเพราะตอนนี้ท่านได้มานั่งทำงานในตำแหน่งรักษาการคณบดีสำนักวิชานิติศาสตร์ และเนื่องจากสำนักฯประสบปัญหาขาดแคลนอาจารย์ที่มีคุณวุฒิปริญญาเอก ดังนั้น หลักสูตรปริญญาโทด้านนิติศาสตร์อาจถูกยุบหรือไม่รับรอง ผมตอบท่านแบบไม่ลังเลใจว่าได้ครับผมจะกลับให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยสำนักและมหาลัยฯ

จำเนียรกาลผ่านไปเมื่อผมกลับมาทำงานที่สำนักวิชานิติศาสตร์อีกครั้ง มีหลายเรื่องราวต่างๆ มากมายเกิดขึ้น ท่านอาจารย์เทอดได้สิ้นสุดการรักษาการคณบดีและเป็นไปตามสถานะที่ได้รับมอบหมาย ท่านอาจารย์เทอดกับผมยิ่งสนิทกันมากขึ้น นัดไปทานข้าว ดื่มไวน์ร้องเพลงหาความสุขตามกาลกันบ่อยมาก มีเรื่องอะไรก็จะคุยปรึกษาท่านตลอดเวลา แม้ในวันที่ผมมีความทุกข์ใจ ท่านทราบ ท่านก็ได้ให้คำชี้แนะ คำปลอบโยน และกำลังใจที่สอนให้ผมต่อสู้ในแนวทางที่สุภาพชนควรกระทำ 

วันหนึ่งผมเชิญชวนท่านอาจารย์เทอดไปทานอาหารกลางวันฉลองปีใหม่ด้วยกัน ระหว่างที่ทานอาหารท่านอาจารย์เทอดได้กล่าวขอโทษผม ผมถามว่าท่านขอโทษผมเรื่องอะไรและท่านนั้นอายุเท่าคุณพ่อผม ไม่ต้องมาขอโทษผมหรอกครับ ท่านบอกว่า ท่านตัดสินใจผิดพลาดที่ดึงตัวผมกลับมาช่วยงานที่สำนักฯ แทนที่จะปล่อยให้ผมทำงานอยู่ที่องค์การระหว่างประเทศตามวาระและเจริญก้าวหน้าไปตามเส้นทางที่กำลังไปได้ดีนั้น ผมได้บอกกับท่านว่าไม่เป็นไรครับเรื่องมันผ่านมาแล้วและผมก็เต็มใจกลับมาช่วยงานสำนักและอาจารย์ ส่วนเรื่องที่มันไม่เป็นไปตามที่ท่านพูดนั้นมันเป็นกรรมที่เราไม่สามารถแก้ไขได้หรือรับรู้ได้ในอนาคต

ในวันเกิดท่านปีนี้ผมได้โทรไปหาท่านเพื่อสวัสดีปีใหม่พร้อมกับอวยพรวันเกิดท่าน ท่านอาจารย์เทอดก็ยังน่ารักเหมือนเดิม ที่รับโทรศัพท์แม้ว่าจะอยู่ในงานทำบุญครบรอบ 100 วันตายของ อ.อ้น และนัดกันว่าหลังโควิดหาย ผมจะไปรับท่านไปทานข้าวด้วยกัน ท่านก็ขอบคุณ ให้พรผม และส่งแรงใจให้ผมทำงานทางวิชาการสำเร็จตามที่มุ่งหวัง รวมทั้งบอกให้ผมรีบหาแม่บ้านโดยเร็วเหมือนเดิม

เช้าวันนี้ (21 เมษายน 63) ได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์พฐาว่าท่านอาจารย์เทอดอันเป็นที่รักยิ่งได้จากไปไม่มีวันกลับแล้ว ผมรู้สึกใจหาย ถามอาจารย์พฐาว่าท่านเป็นอะไร อาจารย์พฐาก็บอกว่าไม่ทราบ ผมเลยโทรหาน้องจูน (ดร.อัจฉริยา วงษ์บูรณาวาทย์) เพราะคุณพ่อน้องจูนสนิทกับท่านอาจารย์เทอด น้องจูนก็ติดสอน (ตอนหลังน้องส่งไลน์มาบอกว่าเพิ่งทราบเช่นกัน) จึงโทรไปหาท่านอาจารย์ปรีชาจึงได้ทราบรายละเอียด 

ที่เล่ามาอยากจะบอกว่าท่านอาจารย์เทอดนั้นผูกพันกับการเกิดขึ้นของสำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล มาโดยตลอด และมีความผูกพัน และสนิทกับผมแบบไม่รู้ตัว ได้ทำงานด้วยกับท่านแล้วผมมีความสุข มีความสบายใจ ไม่รู้ว่าชาตินี้จะหาหัวหน้าที่ดีอย่างนี้ได้อีกหรือไม่ บุญกุศลใดที่ผมได้ทำตลอดที่ผ่านมาในชีวิต ขอให้อานิสงส์นั้นจงส่งผลอุทิศไปถึงท่านอาจารย์เทอดอันเป็นที่รักและเคารพยิ่ง ขอให้ท่านจงมีความสุขในสวรรค์วิมานแมนด้วยเถิด

        



ด้วยรักและอาลัยยิ่ง

ชูเกียรติ น้อยฉิม

คำไว้อาลัยท่านอื่น